แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท2ไว้ในครอบครองเพื่อขายแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท2ไว้ในครอบครองเพื่อขายเท่านั้นโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ปลอมตามที่พิจารณาได้ความแต่อย่างใดจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสี่ อีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท3เฉพาะวัตถุตำรับเดียวหมายความว่ายานั้นจะมีเฉพาะอีเฟดรีนเป็นตัวยาเพียงสารเดียวเมื่อปรากฏว่ายาของกลางส่วนนี้มีสารอีเฟดรีนและสารธีโอฟิลลีนผสมอยู่จึงเป็นยาเท่านั้นไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทการที่จำเลยมียาของกลางส่วนนี้ไว้เพื่อขายจึงไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13, 36, 37, 62, 89,98, 106, 116 ริบของกลางให้กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ตามฟ้องไว้ในครอบครองจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,36, 37, 89, 98 วรรคสาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 9, 13 การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2บทหนักตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 9,13 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลย จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและรับว่ามีไว้ในครอบครองในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 ปี ริบของกลางให้กระทรวงสาธารณสุข ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 37 บัญญัติว่า วัตถุออกฤทธิ์หรือสิ่งต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ (2) วัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์อื่น เมื่อกล่องยาของกลางระบุว่า มีส่วนผสมของสารเฟเนทิลลีน แต่เมื่อตรวจวิเคราะห์แล้วปรากฏว่าจำนวน 2,280 เม็ด มีสารเพโมลีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ผสมอยู่ แต่ก็ไม่ตรงกับชื่อวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ระบุไว้ที่กล่องบรรจุยาของกลาง ยาของกลางจำนวนนี้จึงถือได้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อเป็นวัตถุออกฤทธิ์อื่นตามบทกฎหมายดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอม เมื่อจำเลยไม่ทราบว่ายาของกลางจำนวนนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับยาของกลางจำนวนนี้ จึงเป็นความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 36(1), 98 วรรคสาม ประกอบมาตรา 4 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายเท่านั้น โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามที่พิจารณาได้ความแต่อย่างใด จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่
ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531) ข้อ 4 (5)แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2534)ระบุว่า อีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 3เฉพาะวัตถุตำรับเดียว หมายความว่า ยานั้นจะมีเฉพาะอีเฟดรีนเป็นตัวยาเพียงสารเดียว เมื่อปรากฏว่ายาของกลางส่วนนี้มีสารอีเฟดรีน และสารธีโอฟิลลีนผสมอยู่จึงเป็นยาเท่านั้นไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การที่จำเลยมียาของกลางส่วนนี้ไว้เพื่อขาย จึงไม่เป็นความผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ยาแค๊ปตากอนของกลางที่ไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์