แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 แปรรูปไม้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานแปรรูปไม้กระทงหนึ่งเมื่อแปรรูปไม้สำเร็จเป็นไม้แปรรูปแล้ว จำเลยที่ 1 มีไม้แปรรูปนั้นไว้จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต้องมีความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอีกกระทงหนึ่ง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 69, 73, 74 ทวิ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2503 มาตรา 18ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2518 มาตรา 19 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91 จำเลยที่ 1 ลงโทษฐานมีไม้ประเภท ข. อันไม่ได้แปรรูปจำคุก 1 ปี ฐานก่อให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 แปรรูปไม้จำคุก 1 ปี ฐานมีไม้แปรรูปแล้ว จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานแปรรูปไม้จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 5,000 บาท ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีกำหนด2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เฉพาะความผิดฐานมีไม้หวงห้ามประเภท ข. อันยังมิได้แปรรูปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 69 นั้น จำเลยที่ 1ปราศจากข้อโต้แยง จึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 แปรรูปไม้และจำเลยที่ 1 มีไม้ซึ่งแปรรูปแล้วไว้ในครอบครอง ย่อมเป็นความผิดกรรมเดียวกัน จำเลยที่ 1 ควรจะมีความผิดฐานก่อให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 แปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้มาตรา 48 เพียงฐานเดียวเท่านั้น” พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแปรรูปไม้เป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้คือ เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม การที่จำเลยที่ 1 วานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แปรรูปไม้นั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานแปรรูปไม้กระทงหนึ่ง เมื่อแปรรูปไม้สำเร็จเป็นไม้แปรรูปแล้ว จำเลยที่ 1 มีไม้แปรรูปนั้นไว้ จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ดังนี้การแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองย่อมเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งในปัญหาทำนองเดียวกันนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1596/2523 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด โจทก์ นายลัง หงสากล กับพวก จำเลย”
พิพากษายืน