คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม โดยมิได้วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ทางพิพาทอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกัน แต่โจทก์ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องอุทธรณ์อีกต่อไปอีก เพราะคำพิพากษาเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว แม้ว่าเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอมและไม่เป็นทางจำเป็น แต่เมื่อโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่เท่านั้น โดยไม่รับวินิจฉัยประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็เป็นการกล่าวถึงเหตุผลตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเท่านั้น กรณีถือไม่ได้ว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่แล้ว และไม่มีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวที่จะผูกพันโจทก์ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้เปิดทางจำเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 19032 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ 77 ตารางวา กว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 178 เมตร ให้แก่ที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 41234 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อใช้เป็นทางเดินเข้าออกที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะ ให้จำเลยทั้งสามรื้อรั้วที่ปิดกั้นทางเดินและปรับปรุงทางเดินให้มีสภาพตามเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนและปรับปรุง โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1036/2552 ของศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 บัญญัติว่า คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน… เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกันและประเด็นในคดีนี้กับประเด็นในคดีก่อนเป็นประเด็นเดียวกัน คือโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทหรือไม่ ทั้งคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้วซึ่งย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งดังนี้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1036/2552 ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 19032 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ของจำเลยทั้งสามเป็นทางจำเป็นและหรือทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 41234 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ของโจทก์ และขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางพิพาท จำเลยทั้งสามให้การว่าทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอม ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเปิดทางพิพาทโดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2556 ต่อมาโจทก์จึงมายื่นฟ้องใหม่เป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1036/2552 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม โดยมิได้วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ทางพิพาทอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกันแต่โจทก์ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องอุทธรณ์ต่อไปอีก เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว แม้ว่าเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมและไม่เป็นทางจำเป็น แต่เมื่อโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่เท่านั้น โดยไม่รับวินิจฉัยประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็เป็นการกล่าวถึงเหตุผลตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเท่านั้น กรณีถือไม่ได้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1036/2552 ของศาลชั้นต้น ศาลได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่แล้ว และไม่มีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวที่จะผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้เปิดทางจำเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสามแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share