แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) จำเลยจึงอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งดังกล่าวนี้ได้
ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเพราะศาลหลงผิดว่าโจทก์และจำเลยขาดนัดพิจารณา คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 และถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาโดยขาดนัดศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยหลงผิดนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 (วรรคแรก วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2516)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิดต่อสู้คดี วันที่ 14 มิถุนายน 2514 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณา นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 เดือนหน้า เวลา 10.00 นาฬิกา พอถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2514 นักการศาลรายงานเสนอศาลว่า นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ เวลา 10 นาฬิกา ได้เรียกหาคู่ความจนถึงเวลานัดแล้ว ยังไม่มีคู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นสั่งในวันเดียวกันว่า โจทก์จำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล ถือว่าโจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ครั้นถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2514 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานเสนอต่อศาลว่า โจทก์จำเลยมาศาลวันนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2514 นั้น ตรวจดูบัญชีนัดของศาลแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้นัดคดีไว้ในวันนั้น คงมีนัดไว้แต่ที่หน้าปกสำนวนและในบัญชีลอยของศาล ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าเป็นการสั่งจำหน่ายคดีผิดพลาดไป เห็นสมควรเพิกถอน และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2514 โจทก์ยื่นคำร้องว่า คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนและสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ได้สั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว และศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดีนี้ เวลา 13.30 น. โจทก์ขอเลื่อนคดี จำเลยไม่คัดค้าน ศาลให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์วันอื่นแล้ว จำเลยแถลงคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ว่า คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2), 132(2) และมาตรา 200 คดีย่อมถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ และให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้นัดสืบพยานโจทก์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยไม่ได้ขาดนัดพิจารณาหาใช่เป็นการจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) และมาตรา 132 (2) ไม่ พิพากษายืน ค่าทนายชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้มีการพิจารณาคดีใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่า จำเลยจะอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว มีมติว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้ ไม่เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) จำเลยจึงอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งดังกล่าวนี้ได้
คดีได้ความดังกล่าวข้างต้น ฟังได้แน่นอนว่าศาลชั้นต้นไม่ได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 มิถุนายน 2514 ที่ศาลชั้นต้นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและสั่งให้จำหน่ายคดีในวันที่กล่าว เป็นคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยที่โจทก์จำเลยไม่ได้ขาดนัดพิจารณา จึงเป็นคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะศาลหลงผิด ไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200และถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยเรื่องการพิจารณาโดยขาดนัด ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยหลงผิดนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย