แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องถึงเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดแห่งคำเบิกความของจำเลยที่แตกต่างจากที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าคำเบิกความเป็นเท็จ การที่จำเลยไม่ได้เบิกความระบุชื่อคนร้ายเป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญ เป็นการช่วยเหลือจำเลยในคดีดังกล่าวมิให้ต้องรับโทษอาญา ถือว่าฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม กับการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลจังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง ถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมจึงมีอำนาจสอบสวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 181
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 (2) จำคุก 8 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายทรงพักตร์ เป็นเหตุให้นายทรงพักตร์ถึงแก่ความตาย และนายมานพได้รับอันตรายแก่กาย โดยในวันเกิดเหตุจำเลยเห็นคนร้ายทั้งสองคือ นายภิญโญ ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยขับรถยนต์เข้ามาที่งานศพพร้อมกับนายหมาน มีใจความสำคัญสรุปได้ว่า วันเกิดเหตุขณะที่จำเลยอยู่งานศพญาติของจำเลยที่วัดป่าพะยอม ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง นายภิญโญขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีขาวมาจอดบริเวณโรงกระทะ (โรงเชือด) แล้วนายภิญโญลงจากรถมาพูดกับจำเลยว่า พวกจะยิงนายภิญโญมานั่งอยู่ที่บ้านจำเลย โดยนายหมานเดินลงมาด้วย จากนั้นนายภิญโญและนายหมานเดินขึ้นไปที่โรงเลี้ยงภายในวัด สักพักก็กลับลงมาและขับรถยนต์ออกไปพร้อมกับนายหมาน จากนั้นอีกประมาณ 10 นาที นายภิญโญขับรถยนต์เข้ามาจอดบริเวณเดิม จำเลยเห็นนายหมานลงจากรถเดินไปที่โรงเลี้ยง แล้วจำเลยได้ยินเสียงปืนดังมาจากโรงเลี้ยง 5 นัด สักพักเห็นนายหมานถืออาวุธปืนสั้น แสตนเลสสีขาวด้วยมือข้างขวาวิ่งผ่านไป จำเลยขึ้นไปบนโรงเลี้ยงพบว่านายทรงพักตร์ถูกยิงถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ และนายโด่งถูกลูกหลงเข้าที่หัวเข่าซ้ายได้รับบาดเจ็บ ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องนายชำนาญหรือสมาน และนายภิญโญ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร โดยวันที่ 28 มีนาคม 2556 จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมต่อศาลชั้นต้น แต่บ่ายเบี่ยงที่จะยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงนายทรงพักตร์ ผู้ตาย คือ นายหมานหรือสมาน และคนร้ายที่ขับรถยนต์พานายหมานหรือสมานมายิงผู้ตายคือ นายภิญโญ แต่กลับเบิกความว่า ได้ยินชาวบ้านพูดกันว่า นายหมานเป็นคนยิง และรถยนต์เป็นของนายภิญโญ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายมาในฟ้องเพียงว่าจำเลยให้การแก่พนักงานสอบสวนอย่างหนึ่ง แล้วมาเบิกความต่อศาลอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ตรงกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่โจทก์มิได้บรรยายว่าอย่างไหนเป็นความเท็จอย่างไหนเป็นความจริง หรือความจริงเป็นอย่างไร เพื่อยืนยันว่าการเบิกความในศาลเป็นความเท็จ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล โดยกล่าวถึงเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดแห่งคำเบิกความของจำเลยที่แตกต่างจากคำให้การที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวเป็นเท็จ เป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญ อันเป็นการยืนยันแล้วว่าข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลนั้นเป็นความเท็จ และความจริงเป็นดังที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงถือว่าโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร ทั้งโจทก์ยังบรรยายด้วยว่า การที่จำเลยไม่ได้เบิกความยืนยันระบุชื่อคนร้ายที่พาคนไปยิงผู้ตายและหลบหนี เป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญ และเป็นการช่วยเหลือจำเลยในคดีดังกล่าวมิให้รับโทษอาญา โดยได้ระบุฐานความผิดและระวางโทษตามกฎหมาย ถือว่าฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลจังหวัดพัทลุง มูลคดีจึงเกิดในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุงจึงเป็นผู้มีอำนาจสอบสวน แต่คดีนี้ได้ความว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมเป็นผู้สอบสวนคดี ซึ่งมิได้เป็นท้องที่ที่มูลคดีเกิด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้ได้ความว่าร้อยตำรวจโท สมจิตร ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงได้มีหนังสือแจ้งว่า จำเลยได้ไปเบิกความต่อศาลและกลับคำให้การในชั้นสอบสวนในข้อสาระสำคัญแห่งคดีโดยมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลยว่าเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล กรณีจึงเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (1) พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมในตอนแรก กับการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลจังหวัดพัทลุงซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง ซึ่งไม่ตรงกันนั้น ถือว่าเป็นกรณียังไม่แน่ว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้กระทำลงในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอก ชนันท์ เบิกความว่า ในปี 2555 พยานเป็นพนักงานสอบสวนที่ได้รับแจ้งเหตุว่ามีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงกันตายในวัดป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เมื่อเดินทางไปยังที่เกิดเหตุได้พบจำเลยซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ จำเลยให้การว่าเห็นคนร้ายคือ นายหมาน ขณะนั้นยังไม่ทราบชื่อจริง เชื่อว่านายภิญโญขับรถยนต์พานายหมานหลบหนี เพราะก่อนเกิดเหตุนายภิญโญกับนายหมานมาด้วยกัน สาเหตุที่นายหมานกับนายภิญโญมายิงผู้ตายน่าจะมาจากเรื่องชู้สาว ซึ่งพยานได้อ่านให้จำเลยฟังและให้จำเลยอ่านด้วยตนเองแล้วก่อนที่จะให้จำเลยลงลายมือชื่อ ในการสอบปากคำจำเลย พยานได้สอบสวนต่อหน้าพันตำรวจโท พรพิสิฎฐ์ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม และได้นำภาพถ่ายของนายหมานกับนายภิญโญมาให้จำเลยดูแล้ว จำเลยได้เขียนข้อความว่านายภิญโญเป็นคนขับรถยนต์ นายหมานเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และจำเลยให้การว่ารู้จักกับนายภิญโญซึ่งเป็นเครือญาติกัน ส่วนนายหมานรู้จักกันก่อนเกิดเหตุประมาณ 5 ปี เห็นว่า เรื่องที่ร้อยตำรวจเอก ชนันท์เบิกความถึงคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอก ชนันท์ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หากไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องราวที่จำเลยพบเห็นมาด้วยตนเองแล้ว ย่อมเป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะระบุรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนเช่นนั้น พยานโจทก์ปากนี้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งได้สอบปากคำจำเลยไปตามหน้าที่ในฐานะพนักงานสอบสวน ย่อมไม่มีเหตุที่จะบิดเบือนความจริง เชื่อว่าเรื่องที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นความจริง ดังนี้ การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณาต่อศาลในคดีที่นายภิญโญและนายหมานถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนว่าจำเลยไม่ทราบชื่อคนร้าย และบ่ายเบี่ยงเกี่ยวกับคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและรถยนต์ของคนร้ายโดยเบิกความเพียงว่า จำเลยได้ยินชาวบ้านพูดว่านายหมานเป็นคนยิงและรถยนต์เป็นของนายภิญโญ ทำนองว่าจำเลยไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากที่จำเลยเคยให้การไว้ว่านายภิญโญเป็นผู้ขับรถเก๋งพานายหมานมายิงผู้ตายที่งานศพ แม้จำเลยจะไม่เคยให้การว่าเห็นคนร้ายที่ยิงผู้ตายตามที่อ้างในฎีกา แต่คำเบิกความในส่วนของการกระทำที่เกี่ยวกับนายภิญโญและนายหมานในที่เกิดเหตุทั้งก่อนและหลังการเกิดเหตุในคดีอาญาดังกล่าว ถือเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่ใกล้ชิดกับการเกิดเหตุและมีคุณค่าในการรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว การที่จำเลยมาเบิกความต่อศาลบ่ายเบี่ยงไม่ยืนยันว่าคนร้ายเป็นนายภิญโญและนายหมานแตกต่างจากที่จำเลยเคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน ย่อมอาจทำให้การรับฟังพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวบิดเบือนได้ ถือได้ว่าจำเลยจงใจเบิกความเท็จและความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกับนายภิญโญเป็นเครือญาติกัน การที่จำเลยเบิกความบ่ายเบี่ยงต่อศาลไม่ยืนยันว่าคนร้ายในเกิดเหตุเป็นนายภิญโญ ก็น่าจะมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือนายภิญโญซึ่งเป็นญาติมิให้ต้องได้รับโทษในคดีอาญาดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเบิกความบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้บุคคลผู้ใดต้องได้รับโทษทางอาญาถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต พฤติการณ์ยังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก จำเลยเคยรับตำแหน่งจากทางการเพื่อช่วยเหลือสังคมในชุมชน และไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลย 8 ปี นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 177 วรรคสอง มาตรา 181 (2) และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9