คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันเองนั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีแล้ว หาจำต้องจดทะเบียนโอนกันเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ ไม่ใช่เป็นแบบของนิติกรรมแต่อย่างใด
เมื่อจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับเจ้าของ พร้อมชำระราคาและรับมอบการครอบครองไว้โดยสุจริตแล้วก่อนโจทก์ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิในรถยนต์ยิ่งกว่าโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้ซื้อรถยนต์ฮิลแมนเก๋ง เลขทะเบียน ก.ท.น.0624จากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท โอนทะเบียนแล้วเมื่อ 22 ธันวาคม2499 แล้วจำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อต่อในวันเดียวกัน ต่อมาปรากฏว่ารถยนต์คันนี้จำเลยที่ 1 ได้นำทะเบียนปลอมไปหลอกลวงจำนำและกู้เงินผู้อื่นและมอบทะเบียนปลอมให้ยึดถือไว้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ยึดรถยนต์มา เมื่อสอบสวนแล้วได้มอบให้จำเลยที่ 2ผู้อ้างว่าได้รับจำนำรถยนต์นี้ไปโจทก์เสียหายเป็นเงินเดือนละ 3,000 บาท จึงขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนให้โจทก์หรือให้ใช้ราคากับเรียกค่าเสียหายนับจากวันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,000 บาทกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การ และฟ้องแย้งว่า ซื้อรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2499 ราคา 30,000 บาท จำเลยที่ 1 มอบกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตั้งแต่นั้นตลอดมา ได้มีบุคคลหลายคนถูกจำเลยที่ 1 กู้เงินไปและเอาทะเบียนรถยนต์มอบให้ไว้เป็นประกัน แต่ละรายไม่มีรถยนต์คันพิพาทยึดถือครอบครองไว้ดังเช่นจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขายรถยนต์ให้จำเลยที่ 2โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้ว

นายบุญเลิศ จีระพันธ์ ร้องสอดว่า ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 เมื่อ 19 ธันวาคม 2499 จึงขอให้ศาลพิพากษาว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของผู้ร้อง

โจทก์และจำเลยที่ 2 ให้การแก้คำร้องสอด ฯลฯ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ในระหว่างผู้ซื้อที่สุจริตด้วยกันแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซื้อไว้ก่อนคนอื่น และรถยนต์คันพิพาทอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงควรได้กรรมสิทธิ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ และคำร้องของผู้ร้องสอด ให้รถยนต์เป็นของจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนรถยนต์คันพิพาท ลงชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ใครจะเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันพิพาทไว้ก่อน ซึ่งจะมีสิทธิดีกว่ากันในข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานโจทก์จำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2499 ชำระราคาให้จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเงิน 30,000 บาท และได้รับมอบการครอบครองรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในวันนั้นแล้ว การที่โจทก์ได้รับโอนทะเบียนจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2499 นั้น เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 แล้ว อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 2 ได้รับมอบรถยนต์คันพิพาทมาไว้ในครอบครองแล้ว อันการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะสำเร็จเด็ดขาดในเมื่อจดทะเบียนโอนรถกันจึงจะได้กรรมสิทธิ์ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ หาใช่เป็นแบบนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ไม่ การที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันเอง กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ก็ย่อมโอนมายังผู้ซื้อทันทีได้ ศาลล่างวินิจฉัยข้อนี้มาชอบแล้ว นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้รถยนต์คันนี้มาโดยมีค่าตอบแทน และได้การครอบครองมาโดยสุจริต หากแต่ถูกโจทก์และคนอื่น ๆ เรียกเอารถยนต์คันเดียวกันนี้โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน จำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทอยู่ก็มีสิทธิยิ่งกว่าโจทก์และบุคคลอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 รถยนต์คันพิพาทจึงต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2

พิพากษายืน

Share