แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 38 เป็นเรื่องที่ใช้บังคับกับนายเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทาง+อนุมัติซึ่งไปถึงที่เป็นเขตศุลกากรโดยชอบ ในกรณีดังกล่าว นายเรือจึงจะมีหน้าที่ต้องทำรายงานยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เรือมาถึงท่า และกฎหมายมาตรานี้บังคับด้วยว่า นายเรือจะต้องแถลงรายละเอียดว่าด้วยสินค้านั้น ๆ ลงไว้ในรายงานด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการควบคุมสินค้าที่นำเข้าโดยชอบให้รัดกุมและเพื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจสินค้า และเรียกเก็บภาษีได้โดยสะดวกและรวดเร็วนั่นเอง
จำเลยผู้เป็นนายเรือได้นำกะปิของกลางบรรทุกหรือเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติโดยเจตนาหลีกเลี่ยงอากร และจะฉ้อค่าภาษีรัฐบาล กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยได้นำเรือมาถึงท่าโดยชอบแล้วละเว้นไม่ทำรายงานอันถูกต้องยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 38
ย่อยาว
คดี ๘ สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนที่ ๑ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหมดร่วมกันลักลอบนำเอากะปิซึ่งยังไม่ได้เสียค่าภาษีศุลกากรบรรทุกเรือยนต์ชื่อ “อองแมน ” จากประเทศพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ที่เกาะโล้นหรือโหลน ซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติและเขตศุลกากรเพื่อการนำของเข้าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากรภูเก็ตให้ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงอากรทั้งไม่ได้เสียภาษีศุลกากรตามกฎหมายโดยจำเลยมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล และนายอูสุ่ยหวันจำเลยที่ ๗ เป็นนายเรือผู้ควบคุมเรือยนต์ดังกล่าวได้ละเว้นไม่ทำรายงานยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดไว้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เรือมาถึงท่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗,๓๒,๓๘ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.๒๕๐๐ มาตรา ๔,๕ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.๒๔๘๙ มาตรา ๖,๗,๘,๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๔๑ กับขอให้ริบของกลางและให้จ่ายเงินสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
สำนวนที่ ๒ ถึงที่ ๘ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทุกคนเป็นคนต่างด้าว เข้ามาในราชอาณาจักรโดยเรือยนต์ชื่อ “ฮองแมน” ที่เกาะโล้น หรือโหลน โดยมิได้รับอนุญาต โดยนายโสเหม่า จำเลยเป็นเจ้าของพาหนะและนายอูสุ่ยหวัน จำเลยเป็นนายเรือผู้ควบคุมยานพาหนะ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๒ มาตรา ๖,๗,๒๑,๔๔,๕๘,๖๐,๖๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๙๑
จำเลยทุกคนปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนวนที่ ๑ ตามฟ้องข้อ ก.โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกระทำผิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๕ แต่ทางพิจารณาน่าเชื่อว่าจำเลยทำผิดในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๕ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ส่วนฟ้องข้อ ข.ที่กล่าวหานายอูสุ่ยหวันจำเลยที่ ๗ นั้น กรณีอยู่ในข่ายสงสัยว่า จำเลยอาจเข้าในราชอาณาจักรยังไม่เกิน ๒๔ ชั่งโมง จำต้องยกประโยชน์ให้เป็นผลดีแก่จำเลย ส่วนสำนวนที่ ๒ ถึงที่ ๘ ฟังว่า จำเลยทุกคนเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรนอกช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมืองที่กำหนดจริงตามฟ้อง สำหรับข้อหานายโสเหม่า และนายอูสุ่ยหวัน ว่าเป็นเจ้าของและนายเรือผู้ควบคุมพาหนะเรือยนต์นั้น โจทก์สืบไม่ได้ความชัด พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๖,๖๐ เรือกะปิของกลางให้ริบตามมาตรา ๓๘ แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ และ มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ ให้จ่ายสินบนและรางวัลตามมาตรา ๖ และตามอัตราในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.๒๔๘๙ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่ ๑ เสีย
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมกันนำสินค้าหลบหนีภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๕ ข้อเท็จจริงมิได้แตกต่างกับฟ้อง และเมื่อฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดดังกล่าวแล้ว ก็เห็นได้ว่ามิใช่เรื่องที่นายอูสุ่ยหวัน จำเลยได้นำเรือมาถึงท่าโดยชอบแล้วละเว้นไม่ทำรายงานอันถูกต้องยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายบังคับตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ส่วนสำนวนที่ ๒ ถึงที่ ๘ ฟังข้อเท็จจริงว่านายโสเหม่า และนายอูสุ่ยหวันเป็นเจ้าของและนายเรือผู้ควบคุมเรือยนต์ได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง และวินิจฉัยว่าเรือและกะปิของกลางเป็นของต้องริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๒ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ พิจารณาแก้ว่าจำเลยทุกคนยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ อีกกระทงหนึ่ง นายโสเหม่า นายอูสุ่ยหวันจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๖๑ ด้วยอีกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยทุกคนตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ซึ่งเป็นกระทงที่หนังที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า นายอูสุ่ยหวันจำเลยผู้เป็นนายเรือผู้ควบคุมเรือต้องมีความผิดฐานไม่ทำรายงานยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เรือมาถึงท่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๘ และ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา+ ด้วย
จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้องกับขอให้คืนเรือและกะปิของกลางให้จำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์มีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยได้นำเรือบรรทุกกะปิของกลางมาจอดที่เกาะโล้นซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติเพื่อการนำของเข้าตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๕ ตามฟ้อง ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาหาได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้องตามฎีกาจำเลยไม่
ปัญหาว่า นายอูสุ่ยหวัน จำเลยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๘ และ(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๔ ตามฎีกาโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าความใน มาตรา ๓๘ เป็นเรื่องที่ใช้บังคับกับนายเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางท่าอนุมัติซึ่งไปถึงท่าที่เป็นเขตศุลกากรโดยชอบ ในกรณีดังกล่าว นายเรือจึงจะมีหน้าที่ต้องทำรายงานยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เรือมาถึงท่า และกฎหมายมาตรานี้บังคับด้วยว่า นายเรือจะต้องแถลงรายละเอียดว่าด้วยสินค้านั้น ๆ ลงไว้ในรายงานด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีการควบคุมสินค้าที่นำเข้าโดยชอบให้รัดกุมและเพื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจสินค้าและเรียกเก็บภาษีได้โดยสะดวกและรวดเร็วนั่นเอง แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องนายอูสุ่ยหวัน จำเลยผู้เป็นนายเรือ ได้นำกะปิของกลางบรรทุกเรือเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติโดยเจตนาหลีกเลี่ยงอากรและจะฉ้อค่าภาษีรัฐบาล กรณีมิใช่นายอูสุ่ยหวัน จำเลยได้นำเรือมาถึงท่าโดยชอบแล้วละเว้นไม่ทำรายงานอันถูกต้องยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๘ ตามฎีกาโจทก์
ข้อที่จำเลยฎีกาขอให้คืนเรือและกะปิของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เรือซึ่งใช้ในการขนเข้ามารวมทั้งกะปิของกลางเป็นของต้องริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๒ และ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๗
ศาลฎีกาพิพากษายืน