คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีประจักษ์พยานคือ พ. ซึ่งเห็นการปล้นฆ่า แล้วต่อมาได้แจ้งให้ตำรวจทราบ เมื่อถูกจับจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานได้ทำบันทึกถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพไว้ด้วย แม้ใช้ยันว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดไม่ได้ แต่คำให้การรับสารภาพมีเนื้อหาตรงกับที่ พ. เห็น ทั้งยังสอดคล้องกับสถานที่เกิดเหตุสภาพศพ และสิ่งของที่พบในที่เกิดเหตุ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพด้วยความสมัครใจจึงมีน้ำหนักรับฟังเป็นพยานประกอบ แสดงว่า พ. เห็นเหตุการณ์จริงดังนี้ลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 7 จำคุก 2 เดือน จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288, 289, 340, 340 ตรี ลงบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ประหารชีวิตจำเลยที่ 2ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ทุกข้อหาโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีฟังได้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริงคงมีข้อวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายกระทำผิดคดีนี้หรือไม่ ซึ่งโจทก์มีประจักษ์พยานปากเดียวคือนายพิเชษฐ์ และพยานแวดล้อมคือคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำบันทึกถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพไว้นายพิเชษฐ์นั้นเบิกความว่ารู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน นายพิเชษฐ์ได้ไปที่ปั๊มในช่วงระยะเวลาเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 1 ยืนอยู่หน้าอาคาร จำเลยที่ 2 ถือปืนจ้องคุมเชิงอยู่ในอาคาร จำเลยที่ 1 ร้องบอกให้พวกหนีนายพิเชษฐ์กลัวจึงขับรถออกและไปกรุงเทพมหานครในวันรุ่งขึ้น ต่อมาทราบว่าคนร้ายจะปล้นนายอำพลผู้เป็นเพื่อนจึงไปบอกให้ทราบเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2524 นายอำพลขอให้ช่วยเป็นพยานให้ วันต่อมานายพิเชษฐ์จึงไปแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นถูกจับกุมในวันที่ 20 มกราคม2524 ได้ให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกกระทำผิดและได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพในวันที่ 24 เดือนเดียวกันโดยมีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวแก่การกระทำรวมทั้งยานพาหนะที่ใช้รายชื่อผู้ร่วมกระทำผิด เฉพาะข้อสำคัญ คือจำเลยที่ 1 เป็นคนยืนสังเกตการณ์อยู่มุมปั๊ม จำเลยที่ 2 เป็นคนใช้ปืนขู่และยิงผู้ตายแต่ผู้ตายไม่ล้มจึงช่วยกันแย่งปืนปรากฏว่าปืนลั่นกระสุนถูกนายดมคนร้ายอีกคนหนึ่ง คนร้ายได้ร่วมกันตีและแทงทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ดังรายงานชันสูตรพลิกศพซึ่งมีบาดแผลลักษณะถูกทำร้ายต่าง ๆ กันรวมถึง 14 แผล คำพยานนี้รับฟังได้เพียงไร เฉพาะคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1นั้น เห็นว่าใช้ยันได้เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 จะใช้ยันว่าผู้อื่นกระทำผิดหาได้ไม่แต่เมื่อเจ้าพนักงานรับแจ้งจากนายพิเชษฐ์แล้วได้จับจำเลยทั้งสองได้ในวันที่ 20 เดือนเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยตลอดโดยมีเนื้อหาตรงกับที่นายพิเชษฐ์เห็นคือจำเลยที่ 1 อยู่นอกตัวอาคาร จำเลยที่ 2ถือปืนอยู่ในตัวอาคาร ทั้งยังสอดคล้องกับพยานแวดล้อมเกี่ยวแก่สถานที่เกิดเหตุ สภาพศพและสิ่งของที่พบในสถานที่เกิดเหตุคือ ในเรื่องปืนของผู้ตายลั่นถูกนายดมก็ตรงกับบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่มีรอยเลือดติดอยู่ที่ขอบหน้าต่างของอาคารปั๊มทางด้านทิศเหนือ เรื่องมีการแย่งปืนและตีแทงผู้ตายก็ตรงกับสภาพบาดแผลของผู้ตายที่ถูกทำร้ายอย่างหนักและปืนยาวของผู้ตายนั้นหักเป็น 3 ท่อนอยู่รอบศพ เชื่อว่าจำเลยรับสารภาพด้วยความสมัครใจ จึงมีน้ำหนักรับฟังเป็นพยานประกอบ แสดงว่านายพิเชษฐ์เห็นเหตุการณ์จริง สำหรับคำเบิกความของนายพิเชษฐ์นั้น ปรากฏว่านายพิเชษฐ์ไม่มีสาเหตุใด ๆ กับจำเลยทั้งสอง เมื่อได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิด เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพต้องกันกับคำของนายพิเชษฐ์จึงเชื่อว่าเบิกความตามสัตย์จริงที่ศาลอุทธรณ์ติว่า ไม่ได้ปืนมาเป็นของกลางนั้นก็เป็นเรื่องขณะกระทำผิดและขณะจับกุมต่างเวลาและสถานที่กัน และว่านายพิเชษฐ์ไม่แจ้งความปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปถึง 3 เดือนนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะนายพิเชษฐ์ไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีส่วนใดเสียแต่อย่างใด เหตุใดจะต้องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ตนเองต้องเสี่ยงภัย เพราะตนเองรู้จักจำเลยทั้งสองอยู่ และนายพิเชษฐ์ก็เบิกความชัดว่ากลัวถูกฆ่าปิดปาก ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้ว คดีเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายพิเชษฐ์เห็นจำเลยที่ 2 ถือปืนอยู่ร่วมกับคนร้ายคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาเกิดเหตุในที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่มีทางวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นนอกจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดคดีนี้จริงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share