คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ข้ามเรือโดยสารจากคลองสานไปท่าเรือสี่พระยา ขณะเรือเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่าวันนี้เปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตายและเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมากจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าอาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 80
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 5 แก้คำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น และเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ขอแก้คำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น
ระหว่างพิจารณา นายอุดร บิดานายอนันต์ ผู้ตายที่ 1 และนางสาวฉวี มารดานายดนุพล ผู้ตายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โจทก์ร่วมทั้งสองขอถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากได้รับเงิน 800,000 บาท จากจำเลยทั้งแปดแล้ว ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งแปด ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก, 391 ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 290 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี คำให้การชั้นพิจารณาและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีกำหนด 3 ปี ยกฟ้องฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น กับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7
โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 391 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ก่อนเกิดเหตุนายอนันต์ ผู้ตายที่ 1 นายดนุพล ผู้ตายที่ 2 นายพงศ์ธร ผู้เสียหายที่ 1 นายณัฐวุฒิ ผู้เสียหายที่ 2 นายบี ผู้เสียหายที่ 3 และนายบุญส่ง ผู้เสียหายที่ 4 ข้ามเรือจากท่าเรือคลองสานไปท่าเรือสี่พระยาเพื่อไปสมัครเรียนที่โรงเรียน ส. ขณะที่เรือโดยสารเข้าเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อย เตะ ถีบ และจับผู้ตายที่ 1 โยนลงแม่น้ำเจ้าพระยา ชกต่อย เตะ ถีบผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จนตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา และชกต่อย เตะ ถีบผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับผู้ตายที่ 2 แล้วขู่เข็ญและบังคับให้ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายที่ 2 กระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ส่วนผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยเหลือให้ขึ้นจากน้ำ ภายหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ พันตำรวจโทประภัส พนักงานสอบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิดของกรมเจ้าท่าพบว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวกเป็นนักศึกษา ขอภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 นำไปให้กลุ่มผู้เสียหายดู ขออนุมัติออกหมายจับจำเลยทั้งแปด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เข้ามอบตัว เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 5 ได้ เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพ พันตำรวจโทประภัสจัดให้ผู้เสียหายทั้งสี่ชี้ตัวจำเลยทั้งแปด ชั้นสอบสวนพันตำรวจโทประภัสแจ้งข้อหาจำเลยทั้งแปดเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 5 ยังคงให้การรับสารภาพ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองและพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีเจตนาเพียงทำร้ายกลุ่มผู้ตายและผู้เสียหายโดยมิได้เจาะจงว่าเป็นคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะตามลำพัง ไม่ได้ร่วมทำร้ายและไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ร่วมกับบุคคลอื่นแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เพียงแต่เข้าไปร่วมทำร้ายกลุ่มผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนอง ไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า มีคนในกลุ่มของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 บังคับขู่เข็ญและทำร้ายจนผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสี่ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ต่างนำสืบยอมรับเข้ามาว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายกลุ่มของผู้เสียหายที่ 1 จริง เพียงแต่อ้างว่าเพราะเข้าใจว่าเพื่อนถูกทำร้ายจึงเข้าไปช่วยและเมื่อพิจารณาสภาพเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าไม่ได้มีขนาดกว้างขวางมากนัก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวกทุกคนที่อยู่ในเรือข้ามฟากในขณะเกิดเหตุต้องทราบดีว่ามีพวกของตนประสงค์ให้ผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพูดขู่บังคับให้กระโดดลงไป แม้มีผู้เสียหายที่ 2 เพียงปากเดียวยืนยันว่า จำเลยที่ 4 ถีบผู้เสียหายที่ 2 จนตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา และมีผู้เสียหายที่ 4 เพียงปากเดียวยืนยันว่า เมื่อกลุ่มวัยรุ่นกรูกันมาในเรือ จำเลยที่ 3 เป็นคนพูดว่าวันนี้เป็นวันเปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองข้ามมาฝั่งนี้ทำไม ให้ว่ายน้ำข้ามกลับไปฝั่งเดิม โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องปลีกตัวออกมาทันที แต่ตามคำเบิกความของนายวิสุทธิ์ไม่ปรากฏว่า มีจำเลยคนใดห้ามปรามพวกเดียวกันไม่ให้กระทำเช่นนั้น อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุไปที่ท่าเรือสี่พระยาพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในการกระทำดังกล่าวด้วย และแม้ได้ความจากนายวิสุทธิ์ว่า ขณะเกิดเหตุแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นช่วงน้ำลง น้ำไหลเชี่ยว และเวลามีเรือแล่นสวนกันมีคลื่นกระทบกันเป็นลูกคลื่นสูง แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตาย และเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมาจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ประกอบกับขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 อายุระหว่าง 19 ถึง 22 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ขณะเกิดเหตุอายุ 27 ปี แต่ศึกษาอยู่เพียงชั้นปีที่ 2 แสดงว่าวุฒิภาวะของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยังมีไม่มากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่า อาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก, 391 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 290 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 คนละ 4 ปี คำให้การชั้นพิจารณาและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share