คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปีเมื่อฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,354 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปีและ 5 ปีตามลำดับ และเป็นกรณีที่ กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมาย หลายบทด้วยกัน ซึ่งหากพิจารณา ได้ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ แล้วศาลก็ต้องใช้มาตรา 354 ซึ่งเป็นบทหนักมาเป็นบทลงโทษจำเลย จึงเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาแม้ความผิดตามบทกฎหมายที่เบากว่าจะอยู่ในอำนาจศาลแขวงแต่เมื่อความผิดตามบทหนักเกินอำนาจศาลแขวงแล้ว ก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวงเพราะคำฟ้องของโจทก์กล่าวหาจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวไม่อาจแบ่งแยกข้อหาตามมาตรา 352 และมาตรา 354 ออกจากกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 354

ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า ตามฟ้องได้ความว่านายเทียนชัยนำรถยนต์พิพาทมอบแก่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้มีอาชีพทำธุรกิจค้าขายรถยนต์เพื่อจัดการขายแก่บุคคลอื่น ต่อมาโจทก์มอบรถยนต์พิพาทให้จำเลยอีกครั้งหนึ่งกรณีตามฟ้องจึงเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 ประกอบด้วยมาตรา 22(4)เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 354 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และ 5 ปีตามลำดับ และเป็นกรณีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทด้วยกัน ซึ่งหากพิจารณาได้ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์แล้ว ศาลก็ต้องใช้มาตรา 354ซึ่งเป็นบทหนักมาเป็นบทลงโทษจำเลย จึงเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาแม้ความผิดตามบทกฎหมายที่เบากว่าจะอยู่ในอำนาจศาลแขวง แต่เมื่อความผิดตามบทหนักเกินอำนาจศาลแขวงแล้ว ก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวงเพราะคำฟ้องของโจทก์กล่าวหาจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวไม่อาจแบ่งแยกข้อหาตามมาตรา 352 และมาตรา 354 ออกจากกันได้ ดังนั้นคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในคดีนี้จึงมิชอบ

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ

Share