แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานประเมินวิเคราะห์แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีของโจทก์แล้ว ปรากฏว่ากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นทุกปีแต่กำไรสุทธิกลับลดลง เพียงเท่านี้ก็พอมีเหตุสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินเชื่อว่าการยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์น่าจะไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนดังที่มาตรา 19 ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ได้ ส่วนโจทก์จะมีรายจ่ายที่จะนำมา หักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจริงหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้น ไต่สวนตรวจสอบคนละขั้นตอนกับในชั้นหมายเรียกมาทำการไต่สวนตรวจสอบ ตามมาตรา 19 จึงไม่ทำให้อำนาจการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน เสียไปแต่ประการใด และการที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกใน กรณีนี้ แม้เจ้าพนักงานประเมินได้ระบุมาตรา 19,23 มาด้วยกัน ในหมายเรียกก็หาเป็นเรื่องที่ขัดกันไม่ แต่เป็นการอ้างมาตรา 23 เกินเลยมาเท่านั้น ไม่ทำให้หมายเรียกที่มีเหตุที่จะเรียกได้ตาม มาตรา 19 ตามที่กล่าวแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ประกอบกิจการนำสินค้าประเภทกระติกน้ำและเครื่องแก้วเข้ามาจำหน่าย อันเป็นธุรกิจที่จะต้องจัดทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 เรื่องการบัญชี โจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำ บัญชีจึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจนั้นจะเก็บรักษา ณ สถานที่อื่น โจทก์ผู้มีหน้าที่ จัดทำบัญชีจะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังที่กำหนดไว้ในข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนั้น มิฉะนั้นมีความผิดต้องรับโทษตามข้อ 23 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันการที่อธิบดีกรมการค้ายังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ก็มีผลเท่ากับว่า ในขณะนั้นยังไม่อนุญาตให้เก็บรักษาบัญชีไว้ ณ สถานที่อื่น นอกสถานที่ประกอบธุรกิจ การที่โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่นจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เมื่อเกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีที่นำไปไว้ถูกไฟไหม้ไปด้วย โจทก์จะอ้างเอาเหตุนั้นอันเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์มาเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบตามหมายเรียกหาได้ไม่ ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(2)พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง กรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแทนจำเลยตามที่เห็นสมควรดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติไว้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ที่ให้โจทก์รับผิดชำระภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2520-2522รวมเป็นเงิน 913,522.32 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้หลายประการและว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าเจ้าพนักงานประเมินได้รับข้อมูลจากศูนย์กรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ประสงค์จะตรวจสอบการเสียภาษีของผู้ประกอบกิจการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องมือก่อสร้าง แต่กลับระบุชื่อโจทก์ที่นำเข้าสินค้าประเภทกระติกน้ำและเครื่องแก้วเพราะความผิดพลาด ทั้งการวิเคราะห์แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีก็ถูกต้อง เพราะแม้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นทุกปี แต่อัตรากำไรสุทธิปี 2521 กลับลดต่ำลง เพราะมีรายจ่ายค่าเบี้ยปรับภาษีศุลกากรซึ่งเป็นรายจ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิได้ จึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง ที่จะหมายเรียกมาไต่สวนตรวจสอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การระบุชื่อโจทก์เพราะความผิดพลาดหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่ามีเหตุเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าพนักงานประเมินวิเคราะห์แบบแล้วปรากฏว่ากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นทุกปี แต่กำไรสุทธิกลับลดลงเพียงเท่านี้ก็พอมีเหตุสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินเชื่อว่าการยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์น่าจะไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวน ดังที่มาตรา 19ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ได้ ที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่า ความจริงโจทก์มีรายจ่ายค่าเบี้ยปรับที่จะนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ การยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์เป็นการถูกต้องไม่น่าที่เจ้าพนักงานประเมินจะมีเหตุอันควรสงสัยนั้น เห็นว่า โจทก์มีรายจ่ายเช่นนั้นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้นไต่สวนตรวจสอบคนละขั้นตอนกับในชั้นหมายเรียกมาทำการไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19จึงไม่ทำให้อำนาจการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปแต่ประการใด ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินระบุมาตรา 23ในหมายเรียกทำให้เป็นการออกหมายเรียกที่ขัดกันเองในตัว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ความว่าที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกในคดีนี้เพราะโจทก์ไม่ยื่นรายการ ฉะนั้น การอ้างมาตรา 19 และ 23 มาด้วยกันจึงหาได้เป็นเรื่องที่ขัดกันไม่ แต่เป็นการอ้างมาตรา 23เกินเลยมาเท่านั้น ไม่ทำให้หมายเรียกที่มีเหตุที่จะเรียกได้ตามมาตรา 19 ตามที่กล่าวแล้ว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) เพราะโจทก์ไม่สามารถส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยนั้น ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า เมื่อโจทก์ได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการไต่สวนตรวจสอบ พร้อมทั้งให้นำบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานเพื่อทำการตรวจสอบนายธีระศักดิ์ชนินทรวนิช หุ้นส่วนผู้จัดการ ได้นำงบดุลแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และ จ.17 ไปมอบให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำการตรวจสอบแล้ว ส่วนบัญชีและเอกสารนอกนั้น เดิมเก็บไว้ที่ทำการของห้างโจทก์ แต่เกิดน้ำท่วม และมีปลวกกัดกิน ต่อมาที่ดินติดต่อกับห้างโจทก์ทำการก่อสร้าง วัสดุจากที่ก่อสร้างตกลงมาเป็นเหตุให้หลังคาที่ทำการห้างโจทก์รั่วโจทก์จึงขนย้ายเอกสารที่เป็นสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเก็บที่คลังสินค้าทรานสแพค หลังจากนั้นไฟไหม้คลังสินค้าและไหม้บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์ที่กล่าวมาแล้ว โจทก์จึงไม่อาจส่งมอบสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีตามหมายเรียกได้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ประกอบกิจการนำสินค้าประเภทกระติกน้ำและเครื่องแก้วเข้ามาจำหน่าย อันเป็นธุรกิจที่จะต้องจัดทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 เรื่องการบัญชี โจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจนั้น จะเก็บรักษา ณ สถานที่อื่น โจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังที่กำหนดไว้ในข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนั้น มิฉะนั้นมีความผิดต้องรับโทษตามข้อ 23 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันที่โจทก์ฎีกาทำนองว่า ขณะที่โจทก์ขนย้ายบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเก็บที่อื่น กรมทะเบียนการค้ายังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการขออนุญาตในการเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปไว้ ณ สถานที่อื่นตามเอกสารหมาย จ.7 โจทก์ชอบที่กระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่อธิบดีกรมการค้ายังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ก็มีผลเท่ากับว่า ในขณะนั้นยังไม่อนุญาตให้เก็บรักษาบัญชีไว้ ณ สถานที่อื่น นอกสถานที่ประกอบธุรกิจ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบปรากฏว่าคลังสินค้าทรานสแพคมิใช่สถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์การที่โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเก็บรักษาไว้ที่นั่น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เมื่อเกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีที่นำไปเก็บไว้ถูกไฟไหม้ไปด้วย โจทก์จะอ้างเอาเหตุนั้นอันเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์มาเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบตามหมายเรียกหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยอาศัยมาตรา 83 ตรีแห่งประมวลรัษฎากรว่า โจทก์จะยกเหตุนี้ขึ้นมาอ้างเพื่อไม่ส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีตามหมายเรียกไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า กิจการค้าของโจทก์สามารถหาหลักฐานมาคำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.5/2527เอกสารหมาย จ.25 เจ้าพนักงานประเมินไม่ควรใช้วิธีประเมินตามมาตรา71(1) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวกรมสรรพากรสั่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 แต่การประเมินที่โจทก์นำมาฟ้องปรากฏตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเอกสารท้ายฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเมื่อวันที่16 กันยายน 2526 ก่อนกรมสรรพากรออกคำสั่งที่กล่าวแล้ว ทั้งกิจการที่คำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่าย ที่กรมสรรพากรให้ตัวอย่างไว้ในคำสั่งนั้น มีกิจการขายส่งสุรา เบียร์ ยาสูบ เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ว่าหมายถึงกิจการที่ราคาซื้อขายสินค้าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงแต่กิจการของโจทก์ราคาซื้อขายคงที่หรือไม่ ไม่ปรากฏการที่เจ้าพนักงานประเมินใช้วิธีประเมินตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงหาได้ฝ่าฝืนคำสั่งกรมสรรพากรข้างต้นไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า พนักงานอัยการผู้ว่าคดีแก้ต่างให้จำเลยทั้งสี่เป็นข้าราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีเท่านั้นมิใช่ทนายความโจทก์จึงไม่ต้องชำระค่าทนายความให้จำเลยทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498มาตรา 11(2) พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง กรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสี่ ตามที่เห็นสมควรดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161บัญญัติไว้ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน