คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เหล็กแผ่นสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นเหล็กแผ่นที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานถูกคัดออก บริษัทผู้ขายขายเหล็กพิพาทอย่างเป็นเศษเหล็กโจทก์นำเหล็กดังกล่าวไปตัดซอยเป็นแผ่นเล็ก ๆ และเผาให้ร้อนรีดเป็นเหล็กเส้นตามขนาดและมาตรฐานที่ตลาดต้องการ และนำออกจำหน่ายทั้งหมดโดยมิได้นำไปขายเป็นเหล็กแผ่น เหล็กพิพาทจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 73.03 มิใช่ประเภทพิกัดที่ 73.13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำสินค้าเศษเหล็กเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงรายการ ชนิดของเป็นเศษเหล็กสำหรับมารีดใหม่ เสียอากรตามประเภทพิกัดที่ 73.03 อัตราอากร 0.5% แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจพิจารณาสภาพของสินค้า มีความเห็นเบื้องต้นว่า เป็นแผ่นเหล็กสำเร็จรูปต้องจัดเข้าประเภทพิกัดที่ 73.13 ค. อัตราอากรกิโลกรัมละ0.20 บาท และประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่ม เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน จำเลยให้การว่าการประเมินชอบแล้ว ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่า สินค้าเหล็กแผ่นที่โจทก์นำเข้าอยู่ในประเภทพิกัดที่ 73.03 หรือประเภทพิกัดที่ 73.13 ค. ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรฯ ให้ความหมายในพิกัดที่ 73.03 ว่า ได้แก่ เศษที่ไม่ใช่และเศษที่ใช้ไม่ได้ของโลหะที่เป็นเหล็ก หรือเหล็กกล้าและจำเลยได้มีประกาศเรื่องแจ้งอัตราอากร(ว.อ.62/2515) ตามเอกสารหมาย จ.4 ตีความคำว่าเศษโลหะให้หมายถึงเศษที่ไม่ใช้ และเศษที่ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะได้มาจากการใด เศษดังกล่าวอาจเป็นเศษที่มีลักษณะเป็นเศษจริง ๆ จากการผลิต เช่นเป็นส่วนเกินที่ถูกตัดออก หรือเป็นของต่ำกว่ามาตรฐานและถูกตัดออกหรือเป็นเศษเพราะชำรุดสึกหรอหรือเสียหาย จนอยู่ในสภาพที่ตามปกติวิสัยในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจะไม่พึงใช้ตามความมุ่งหมายเดิมในการผลิตของนั้น ๆ เศษดังกล่าวจึงอาจมีรูปหรือลักษณะต่าง ๆ กันแต่จะต้องเหมาะเฉพาะเพื่อนำมาทำขึ้นใหม่ หรือเพื่อใช้ในการผลิตเคมีภัณฑ์จึงจะจัดเข้าในพิกัดที่ 73.03 ส่วนในพิกัดที่ 73.13ระบุว่า ได้แก่ เหล็กหรือเหล็กกล้าทำเป็นแผ่นบาง และแผ่นหนาด้วยวิธีรีด โดยใช้ความร้อนหรือรีดในขณะเย็น สำหรับสินค้าเหล็กพิพาทโจทก์สั่งซื้อจากบริษัทอิตัล ไซเดอร์ เอส.พี.เอ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 หนังสือของบริษัทดังกล่าวแจ้งว่าเป็นเหล็กแผ่นชั้นสองซึ่งไม่เหมาะสมในการใช้สารประโยชน์ตามต้องการ เป็นเหล็กที่คัดออกจากโรงงานผลิตเนื่องจากเป็นเหล็กสองชั้น เหล็กหลายชั้น เหล็กแตกเนื่องจากหล่อผิวเหล็กไม่เรียบ คุณสมบัติทางกลและเคมีไม่ตรงตามลักษณะเฉพาะที่กำหนดไว้ จึงเห็นได้ว่าบริษัทผู้ขายขายเหล็กพิพาทอย่างเป็นเศษโลหะตามความหมายในประกาศของจำเลยดังกล่าว และในการตรวจสอบคุณสมบัติเหล็กพิพาทซึ่งจำเลยขอให้กรมอู่ทหารเรือดำเนินการให้ ผลการตรวจสอบปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 ได้ความว่าเป็นเหล็กแผ่นที่มีรอยตำหนิเป็นชั้นและรูพรุนในเนื้อ และพบสแลกกระจายอยู่ทั่วไปในเนื้อของแผ่นเหล็ก ผู้ตรวจสอบมีความเห็นว่าควรจัดอยู่ในประเภทเศษเหล็ก การนำเศษเหล็กไปใช้งานต่อไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ที่จะนำเอาไปใช้ ซึ่งโจทก์นำสืบว่าโจทก์ซื้อเหล็กพิพาทมาเพื่อทำเป็นเหล็กเส้นปรากฏกรรมวิธีในการผลิตตามภาพถ่ายหมาย จ.18 โจทก์หาได้นำเหล็กพิพาทมาใช้ในลักษณะเป็นเหล็กหรือเหล็กกล้าทำเป็นแผ่นดังที่ระบุไว้ในพิกัดที่ 73.13 ไม่และกรรมวิธีในการผลิตดังกล่าวก็ตรงกับความหมายของคำว่า “เพื่อนำมาทำขึ้นใหม่” ดังที่ระบุไว้ในตอนท้ายของความหมายของคำว่าเศษโลหะตามประกาศของจำเลยเรื่องแจ้งอัตราอากร (ว.อ.62/2515) ซึ่งให้ความหมายของคำว่า “นำมาทำขึ้นใหม่” ว่าหมายถึงการนำไปแปรรูปจากสภาพเดิมไปสู่อีกสภาพหนึ่ง เช่นโดยการหล่อหลอม ทุบ หรือนำไปตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เผาไฟให้ร้อนแล้วนำไปผ่านการรีดร้อน การแปรรูปดังกล่าวนี้ต้องเป็นการแปรที่ทำให้เปลี่ยนจากสภาพเดิมโดยชัดแจ้งมิใช่การกระทำที่เพียงแต่ดัดแปลงหรือซ่อมโดยยังคงสภาพเดิมเป็นส่วนใหญ่ดังนั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนอีกประการหนึ่งให้เห็นว่า เหล็กพิพาทจัดอยู่ในลักษณะเป็นเศษเหล็กหรือเศษโลหะโดยนัยดังกล่าว ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ไปตรวจสอบดูเห็นว่าเหล็กที่ขายอยู่ในท้องตลาด พบมีเหล็กแผ่นซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงทำนองเดียวกับเหล็กพิพาท อาจนำมาตัดเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ได้อีก ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.12 แผ่นที่ 2 และภาพถ่ายหมาย ล.13นั้น เห็นว่า น่าจะเป็นเรื่องการไปตรวจสอบดูด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่อาจจะลบล้างผลการตรวจสอบที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 ได้ และตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ก็จะเห็นได้ว่า เป็นการใช้เหล็กเหล่านั้นในสภาพของการใช้เศษเหล็กนั่นเอง หาได้นำไปใช้อย่างลักษณะเป็นเหล็กแผ่นตามความหมายที่ระบุไว้ในพิกัดที่ 73.13 นั้นไม่ ในกรณีของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เหล็กพิพาทในลักษณะที่เป็นเหล็กแผ่นตามความหมายที่ระบุไว้ในพิกัดที่ 73.13 ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ฟังได้ว่าสินค้าเหล็กพิพาทอยู่ในประเภทพิกัดที่ 73.03
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนโจทก์5,000 บาท”

Share