คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2133/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยการคุ้มครองแรงงาน หาใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไม่ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละสองครั้ง กลางเดือนกับสิ้นเดือนโจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2525 วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างได้ย่อมเริ่มนับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 สิทธิเรียกร้องค่าจ้างเช่นว่านี้เกิดแต่สัญญาจ้างแรงงานและเกิดแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีกำหนดอายุความสองปีตามมาตรา 165 (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของจำเลย จำเลยไล่โจทก์ออกโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ เงินสะสม เงินสมทบเงินสะสม เงินบำเหน็จค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายและดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยจึงไล่โจทก์ออกได้โดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกจำนวน และคดีขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีขาดอายุความแล้ว โจทก์รับซื้อเช็คเดินทางต่างประเทศจากนายสมชัยหลายฉบับโดยไม่มีหน้าที่และเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะเป็นเช็คสูญหายและถูกลักและเจ้าของเช็คได้อายัดไว้ จำเลยจึงแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ศาลอาญากับศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องคดีถึงที่สุด ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การกระทำของโจทก์ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๗ (๕) จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายอันเกิดแก่การถูกฟ้องเป็นคดีอาญานั้น จำเลยใช้สิทธิในทางศาลโดยสุจริตและชอบธรรมเป็นไปตามกระบวนพิจารณาความอาญา จำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ตามคำสั่งที่ ๖/๒๕๑๕เรื่อง การจัดสรรเงินเพื่อสวัสดิการของพนักงาน (ฉบับที่ ๓)เอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๕.๑ แสดงว่าจำเลยได้หักเงินเดือนโจทก์ไว้ร้อยละห้าเป็นเงินสะสมและจะคืนให้เมื่อโจทก์ออกจากงาน เงินดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์เอง จำเลยจึงต้องคืนให้โจทก์ตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๒ เป็นจำนวน ๑๖,๗๘๗.๕๐ บาทส่วนเงินสมทบเงินสะสมและเงินบำเหน็จนั้นจำเลยจะจ่ายให้แก่พนักงานที่ออกจากงานโดยไม่มีความผิด เมื่อโจทก์ออกจากงานโดยมีความผิดจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสม ๑๖,๗๖๗.๕๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจึงขอค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การฟ้องเช่นว่านี้เป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งเป็นบทกฎหมายสารบัญญัติส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยการคุ้มครองแรงงานหาใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค ๑ ลักษณะ ๓ หมวด ๒ ไม่ ดังนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา หากแต่จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณาเท่านั้น
เงินเดือนเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ ๒ และเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๕ และหากค่าอาหาร ค่าพาหนะกับค่ารับรองเป็นค่าจ้าง (ซึ่งศาลฎีกายังมิได้ถือเช่นนั้น) เงินสามประเภทนั้นย่อมเป็นค่าจ้างและสินจ้างตามที่กล่าวข้างต้นดุจกัน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละสองครั้งคือประมาณกลางเดือนกับประมาณสิ้นเดือน โจทก์ได้รับเงินเดือนสำหรับงวดวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ ไปแล้วแต่งวดที่สองคือวันที่ ๓๑ ตุลาคม๒๕๒๕ ยังไม่ได้รับโจทก์ก็ถูกเลิกจ้างเสียก่อนเมื่อวันที่ ๒๑ตุลาคม ๒๕๒๕ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อกรณีเป็นเช่นนี้วันเริ่มแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างย่อมเริ่มนับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา๑๖๙ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างเช่นว่านี้เกิดแต่สัญญาจ้างแรงงานและเกิดแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาชั้นที่สุดของศาลตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๗/๒๕๒๖ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๙๖๒๒/๒๕๒๗ หรือโดยคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการหรือโดยประนีประนอมยอมความซึ่งมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๘ ดังที่โจทก์อุทธรณ์โจทก์ยกกฎหมายว่าด้วยอายุความขึ้นปรับคดีโดยไม่ตรงต่อรูปเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์ในคดีนี้ชอบที่จะปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕ (๙) ซึ่งมีกำหนดอายุความสองปี เมื่อโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ ๓๑ตุลาคม ๒๕๒๕ แต่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๐โจทก์จึงมิได้บังคับตามสิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ คดีโจทก์สำหรับค่าจ้างค้างชำระจึงตกเป็นอันขาดอายุความห้ามมิให้ฟ้องร้องที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ที่เรียกค่าจ้างค้างชำระขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๖ นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
อนึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่าย ๑๖,๗๘๗.๕๐ บาทจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอโดยมิได้อ้างให้ปรากฏซึ่งเหตุอันควรเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ประการใด ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์ ๑๖,๗๕๐ บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share