คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยที่มีต่อโจทก์จึงต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว ฉะนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมยกข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เว้นแต่ข้อยกเว้นนั้นจะขัดต่อกฎหมาย
ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์กำหนดว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดกรณีการใช้รถยนต์ตามที่ระบุคือห้ามรับจ้างหรือให้เช่านั้น ไม่ขัดต่อกฎหมายเพราะเป็นเพียงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างหรือให้เช่า ซึ่งเป็นการใช้มากไปกว่าการใช้บรรทุกส่วนบุคคลอันจะทำให้จำเลยที่ 3ต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกดังกล่าวจึงใช้บังคับได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก 10 ล้อเลขทะเบียน ต.ก. 04119 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับขี่รถยนต์บรรทุก 10 ล้อ เลขทะเบียน 80-0023 สุโขทัย ของจำเลยที่ 2นายจ้าง จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูงมาชนรถคันอื่นแล้วมาชนรถยนต์บรรทุก 10 ล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ชำระค่าซ่อมไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยทั้งสาม ขอให้ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,119 บาท กับให้ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 12,300 บาทนับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่รถยนต์ชนกันไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายเพียง 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์ไปรับจ้างบรรทุกของซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 12,300 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 600 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 เป็นการประกันภัยรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล. 2 ข้อ 2.11.1 มีข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในกรณีการใช้ตามที่ระบุยกเว้นเพิ่มเติมไว้ในตารางตามรายการที่ 7 คือห้ามรับจ้างหรือให้เช่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างบรรทุกของ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่แล้วจำเลยที่ 1 ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ปัญหามีว่าจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจะยกข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาข้างต้นขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันจะมีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ความรับผิดของจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยที่มีต่อโจทก์จึงต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว ฉะนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมยกข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เว้นแต่ข้อยกเว้นนั้นจะขัดต่อกฎหมาย ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล. 2 ข้อ 2.11.1 ที่กำหนดไว้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในกรณีการใช้ตามที่ระบุยกเว้นเพิ่มเติมไว้ในตารางตามรายการที่ 7 คือ ห้ามรับจ้างหรือให้เช่านั้นไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นแต่เพียงเงื่อนไขที่ กำหนดไว้เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างหรือให้เช่าซึ่งเป็นการใช้มากไปกว่าการใช้บรรทุกส่วนบุคคลอันจะทำให้จำเลยที่ 3 ต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างบรรทุกของอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และจำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 3 ในปัญหานี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาเรื่องค่าเสียหายตามฎีกาจำเลยที่ 3 อีกต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,200 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share