แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่กฎหมายและระเบียบของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้ลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิได้กำหนดให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไปดังนั้น เมื่อรัฐวิสาหกิจเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามกฎหมายและระเบียบของจำเลยกำหนดให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์โจทก์จึงเป็นลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จำเลยเลิกจ้างตามกำหนดจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อฎหมายว่า “มีปัญหาเพียงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 8 บัญญัติว่า “พนักงานของรัฐวิสาหกิจ นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ด้วย ฯลฯ (2) มีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ฯลฯ” มาตรา 11 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 3 บัญญัติว่า “นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ฯลฯ (3) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 ฯลฯ สำหรับการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” และระเบียบของจำเลยว่าด้วยเรื่องรับสมัคร บรรจุ และให้ออกของพนักงานเจ้าหน้าที่ ร.ส.พ. พุทธศักราช 2495 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 21) ข้อ 20 ทวิ กำหนดว่า”พนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ” เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายก็ดีระเบียบของจำเลยก็ดี ที่ให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่พนักงานมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิได้กำหนดให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของรัฐวิสาหกิจและของจำเลยเป็นการทั่วไป โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคสุดท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม2521 ข้อ 2 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงิน 8,430 บาท”