แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยโฆษณาโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ เพิ่งพ่นสีใหม่เป็นสีเดิม ความจริงเป็น รถยนต์รุ่นเก่า และเคยเปลี่ยนสีมาหลายครั้งกับกล่าวอ้างคุณสมบัติ ของรถยนต์ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์โดยเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของจำเลย การซื้อขายรถยนต์จึงเกิดจากกลฉ้อฉลให้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่รถยนต์ ยัง คงเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ต้องการซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยจึง มิได้ ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้นโจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์ จาก จำเลยโจทก์ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์ย่อมมี สิทธิ เรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แม้กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 จะเป็นบิดาจำเลยที่ 2และการซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะทำกันที่บริษัทจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ประกอบกิจการ บริษัทที่จำเลย ที่ 2ทำงานอยู่ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในใบสั่งซื้อ รถยนต์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำขึ้น คงมีแต่ลายมือชื่อ ของ จำเลย ที่ 2ลงชื่อในฐานะผู้จัดการหรือผู้ขายเท่านั้น พฤติการณ์ ดังกล่าว ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือ จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นคู่สัญญาในการซื้อขายรถยนต์กับโจทก์ กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความเรียกค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 123 ไว้ จึงต้องถือหลัก ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานตัวแทนและผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยเป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งยี่ห้อเปอโยต์ 504สีเขียวหยก หมายเลขทะเบียน 1 ง – 3372 กรุงเทพมหานคร และปัจจุบันเป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2527โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม ซึ่งจำเลยที่ 3 มาร่วมในกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการซื้อขาย โจทก์และจำเลยได้ตกลงซื้อขายกันในราคา205,000 บาท โจทก์ได้ชำระราคาในวันซื้อขายเป็นเงิน 150,000 บาทพร้อมกับรับมอบรถยนต์จากจำเลยทั้งสาม ส่วนราคาที่เหลือเป็นเงิน55,000 บาท กำหนดชำระกันภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2527 และจำเลยทั้งสามรับรองว่าจะโอนชื่อทางทะเบียน ณ กองทะเบียนยานพาหนะกรมตำรวจ ให้เป็นชื่อของโจทก์ เมื่อโจทก์รับมอบรถยนต์แล้ว โจทก์ใช้รถยนต์ตามปกติเยี่ยงวิญญูชนที่จะพึงใช้ ต่อมาก่อนถึงกำหนดการชำระราคาส่วนที่เหลือรถยนต์ที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยเกิดขัดข้องโจทก์นำไปซ่อมแซม จึงทราบว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลเพื่อจูงใจให้โจทก์ยอมรับเอาซึ่งข้อกำหนดซึ่งหนักยิ่งกว่าที่โจทก์จะยอมรับโดยปกติ กล่าวคือ ขณะทำการซื้อขายรถยนต์จำเลยที่ 2 ได้กล่าวอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นรถยนต์ที่ผลิตในปี ค.ศ.1979 ผ่านการใช้งานมาเพียงเจ้าของเดียว พ่นสีใหม่เพียงครั้งเดียว ไม่มีการเปลี่ยนสีให้ผิดไปจากเดิมสภาพรถยนต์ผ่านการตรวจเช็คอะไหล่ที่เป็นของแท้ช่วงล่างของรถเปลี่ยนโช้กอัพและระบบกันสะเทือนใหม่หมดเพราะบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเปอโยต์ หากโจทก์ซื้อไปใช้ในระยะเวลา 1 ปี จำเลยจะรับประกันให้ว่าจะไม่ต้องมีการซ่อมแซม แต่ปรากฏว่าข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างรับรองและรับประกันนั้นหาได้เป็นความจริงแต่อย่างใดไม่ เพราะรถคันดังกล่าวนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายประการ เป็นรถที่ผลิตขึ้นในปี ค.ศ.1977 ผ่านการซ่อมแล้วและเปลี่ยนสีจากเดิมถึง 3 สี 3 ครั้ง สภาพความเป็นจริงของตัวถังรถที่จำเลยได้อำพรางโจทก์ขึ้นใหม่ ก็เป็นเพียงเพื่อการปิดบังอำพรางสภาพที่ผุพัง เมื่อโจทก์ใช้ไปได้ 1 เดือน บริเวณที่จำเลยได้กระทำอำพรางไว้เกิดความเสียหายขึ้น โจทก์ต้องให้ช่างสีรื้อทำใหม่หมด เสียค่าซ่อมไป 8,780 บาท นอกจากนี้โจทก์ต้องซ่อมแซมอยู่ตลอดแสดงให้เห็นว่ารถยนต์อยู่ในสภาพที่ชำรุดบกพร่องไม่ตรงกับคำรับรองอวดอ้างและคำรับประกันของจำเลยที่ 2 โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมแซมทั้งสิ้น 16,155 บาท อันเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์ได้รับโดยตรงจากผลการกระทำของจำเลย ความชำรุดบกพร่องเกิดจากการกระทำของจำเลย เป็นความชำรุดบกพร่องที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อได้สามารถรู้หรืออาจรู้ หรืออาจคาดหมายได้ในขณะทำการซื้อและส่งมอบ ทั้งในขณะซื้อและส่งมอบนั้นความชำรุดบกพร่องก็ไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่าง ซึ่งถ้าหากโจทก์ได้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องโจทก์ก็คงไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลยทั้งสามในราคา 205,000 บาทเนื่องจากโจทก์ไว้วางใจในความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 1และเชื่อว่าจะไม่นำเอารถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่องมาหลอกขายให้โจทก์ในราคาสูงเกินกว่าราคาที่แท้จริงที่ท้องตลาดซื้อขายกันโดยปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่อง การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือทำให้โจทก์ซื้อรถในราคาที่แพงกว่าความเป็นจริงถึง 80,000 บาท เพราะรถในสภาพที่ปรากฏความบกพร่อง และปี ค.ศ.ที่ผิดนี้มีราคาเพียง 125,000 บาท เท่านั้นและจากความชำรุดข้างต้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นจำนวน 16,155 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยอีกเป็นจำนวน 16,155 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้นเป็นเงิน 96,155 บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบและขอยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระจำนวน 55,000 บาท กับขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนชื่อในทะเบียนให้โจทก์ ในราคาที่ชำระไปแล้วเป็นเงิน150,000 บาท โดยเอาความเสียหายที่โจทก์ได้รับหักกับจำนวนเงินที่โจทก์ค้างชำระ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยและไม่ยอมรับความชำรุดบกพร่องและความเสียหาย จำเลยทั้งสามมีหน้าที่จัดการจดทะเบียนโอนชื่อในทะเบียนให้แก่โจทก์พร้อมทั้งร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 96,155 บาท แต่เมื่อหักหนี้ค่ารถยนต์จำนวน 55,000 บาท ซึ่งโจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงไว้แล้ว คงเหลือยอดจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 41,155 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันจัดการโอนทะเบียนชื่อในทะเบียนรถยนต์เก๋งเปอโยต์ 504หมายเลขทะเบียน 1 ง-3372 กรุงเทพมหานคร จากชื่อของจำเลยที่ 3ให้เป็นชื่อของโจทก์ ในราคาที่โจทก์ได้ชำระไปแล้ว 150,000 บาทณ กองทะเบียนยานพาหนะตำรวจ หากจำเลยทั้งสามไม่จัดการจดทะเบียนโอนชื่อในทะเบียนรถดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 41,155 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขายรถยนต์ยี่ห้อเปอโยต์ 504 คันหมายเลขทะเบียน 1 ง-3372 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์แต่เป็นการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาซื้อขายเพราะไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือจำนวน 55,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามกำหนดในสัญญา สัญญาซื้อขายจึงต้องเลิกกัน รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ใช้แล้ว จึงเป็นรถที่มีความชำรุดบกพร่องซึ่งวิญญูชนผู้ใช้จำต้องบำรุงรักษาซ่อมแซมเป็นปกติธรรมดา ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 มิต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 6 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายรถยนต์เก๋งยี่ห้อเปอโยต์ 504 หมายเลขทะเบียน 1 ง-3372 ให้แก่โจทก์ในราคา 205,000 บาท จริง แต่โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2เพียง 150,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 55,000 บาท โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 2 จึงจะโอนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนให้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 55,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2กรรมสิทธิ์จึงยังไม่โอนเป็นของโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องจดทะเบียนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายเผื่อเลือก โจทก์สนใจจะซื้อรถยนต์เพื่อใช้จึงได้ตรวจสอบและเลือกรถยนต์หลายคัน จนในที่สุดพอใจรถยนต์คันดังกล่าวราคาที่ซื้อขายเป็นราคาตามสภาพของสินค้าที่โจทก์ซื้อ จำเลยที่ 2ไม่เคยปิดบังหลอกลวงถึงคุณสมบัติของรถยนต์ต่อโจทก์ รถยนต์ที่ซื้อขายเป็นรถใช้แล้วจึงมีความชำรุดบกพร่องอยู่ตามปกติ ความชำรุดบกพร่องหากมีอยู่ก็เป็นความชำรุดบกพร่องที่โจทก์ซึ่งเป็นวิญญูชนได้รู้หรือควรจะได้รู้ตั้งแต่วันที่ตกลงซื้อขายกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์รถยนต์ซึ่งโจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการซื้อด้วยความพอใจจึงไม่มีสิทธิจะเรียกร้องว่าราคาซื้อแพงกว่าที่เป็นจริง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวน 80,000 บาท จากจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายโดยมีเงื่อนไข กรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่ซื้อขายจะโอนไปเป็นของโจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินตามกำหนด โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ได้ชำระไปแล้ว และมีสิทธิที่จะเรียกให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่ซื้อขายคืนจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องแย้ง ให้โจทก์ส่งคืนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หากคืนไม่ได้ให้ชำระราคาค่ารถจำนวน 205,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ว่า การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด มิใช่เป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือขายเผื่อเลือก การซื้อขายรถยนต์หาได้มีกฎหมายบังคับว่านิติกรรมการซื้อขายตกเป็นโมฆะเมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ การชำระราคาส่วนที่เหลือหรือการโอนทะเบียนมิใช่เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์จึงไม่เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตามกฎหมายกรรมสิทธิ์จึงโอนเป็นของโจทก์ผู้ซื้อแล้วนับตั้งแต่วันที่ตกลงซื้อกัน การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่ชำรุดบกพร่องกับไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาก่อนจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว และฟ้องแย้งเรียกรถคืน ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนชื่อในทะเบียนรถยนต์เก๋งเปอโยต์ 504 หมายเลขทะเบียน1 ง-3372 กรุงเทพมหานคร จากชื่อของจำเลยที่ 3 ให้เป็นชื่อของโจทก์ โดยให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 55,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันโอนทะเบียน คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกัน จดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาท หมายเลขทะเบียน 1 ง-3372 เป็นชื่อของโจทก์ (โดยไม่ต้องชำระราคาที่ค้างชำระ) หากจำเลยทั้งสามไม่จัดการโอนชื่อในทะเบียนดังกล่าวให้โจทก์ ให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนโจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทเชื่อว่าผู้ซื้อจะต้องสอบถามประวัติของรถยนต์ที่จะซื้อและคุณสมบัติของรถที่ไม่อาจตรวจพบและตรวจรู้ได้ด้วยสายตาของคนทั่ว ๆ ไป ฝ่ายผู้ขายก็ย่อมต้องโฆษณาคุณภาพของรถยนต์ที่จะขายให้ถูกใจผู้ซื้อและอธิบายให้ผู้ซื้อหายข้องใจให้จงได้ จำเลยที่ 2 ได้โฆษณาอวดอ้างคุณสมบัติของรถยนต์พิพาทต่อโจทก์จริงดังที่โจทก์ฟ้องและนำสืบความปรากฎ ต่อมาว่ารถยนต์คันพิพาทมีความบกพร่องหลายอย่าง มีคุณสมบัติไม่ตรงตามคำโฆษณารับรองของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะในสาระสำคัญเรื่องรุ่นของรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ 2 ว่าเป็นรุ่นค.ศ. 1979 ในเรื่องสีจำเลยที่ 2 รับรองว่ารถยนต์คันพิพาทเพิ่งพ่นสีใหม่เป็นสีเดิม ไม่เคยเปลี่ยนสีซึ่งความจริงรถพิพาทเป็นรุ่นค.ศ. 1977 เคยเปลี่ยนสีมาแล้วหลายครั้ง ข้อบกพร่องดังกล่าวจำเลยที่ 2 หาได้นำสืบโต้แย้งไม่คงกล่าวอ้างแต่ว่าความบกพร่องเหล่านั้นเป็นปกติธรรมดาของรถยนต์ใช้แล้ว จึงต้องฟังว่ารถยนต์พิพาทมีข้อบกพร่องจริงดังโจทก์ฟ้อง โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์พิพาทโดยเชื่อคำโฆษณาของจำเลยที่ 2 การซื้อขายรถยนต์พิพาทจึงเกิดจากกลฉ้อฉลให้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่รถยนต์พิพาทคงเป็นรถยี่ห้อเปอโยต์ 504 ตามที่โจทก์ต้องการซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยที่ 2 จึงมิได้ถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้นโจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์พิพาท เพียงแต่เป็นเหตุให้โจทก์ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ และฟังว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้เป็นเงิน 55,000บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 123 หักกลบลบกันกับราคารถยนต์พิพาทที่เหลือได้พอดี โจทก์จึงไม่ต้องชำระราคาที่เหลือแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 นั้น แม้โจทก์จะนำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายจินดา วานิชพัฒนากูล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1การซื้อขายรถยนต์ทำกันที่บริษัทจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็นำสืบโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วยังไม่ได้ประกอบกิจการ นายจินดาซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่จึงให้บริษัทออโต้เซลล์ จำกัด เช่าสถานที่จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทออโต้เซลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ตามใบสั่งซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.2 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ทำขึ้น คงมีแต่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ลงชื่อในฐานะผู้จัดการหรือผู้ขายเท่านั้น จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นคู่สัญญาในการซื้อขายรถยนต์กับโจทก์ คงมีจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า อายุความตามที่จำเลยฎีกานั้นเป็นอายุความเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่ซื้อขาย แต่คดีนี้มีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะประเด็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 123 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้จึงต้องถือหลักทั่วไปตามมาตรา164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.