คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้จะขายหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญาไม่ เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น
ผู้เสียหายทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยแล้วว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญากันยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น จำเลยมิได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างจำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทำให้จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้เสียหายได้ จำเลยเพียงแต่ยังไม่มีเงินคืนให้ผู้เสียหายได้ตามที่เรียกร้องและผู้เสียหายไม่ยอมเปลี่ยนไปเอาที่ดินในโครงการอื่นของจำเลยตามที่จำเลยเสนอให้ การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่ การที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและบ้าน ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานจะดำเนินการแก่จำเลยเอง ไม่อาจนำมาเกี่ยวข้องในการวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน190,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และจำนวน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และนับโทษของจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีติดต่อกัน

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 190,000บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และจำนวน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดสรรที่ดินและบ้านขายให้แก่ลูกค้าโดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการประกอบทรัพย์การ์เด้นท์โฮมโครงการ 3″เปิดสำนักงานขายอยู่ที่ถนนทางเข้าเมือง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม และมีการทำแผ่นปลิวโฆษณาออกแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป โครงการดังกล่าวดำเนินการในที่ดินโฉนดเลขที่ 5298 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิเข้าดำเนินการในที่ดินได้ ผู้เสียหายทั้งสองได้รับแผ่นปลิวโฆษณาดังกล่าวแล้วไปติดต่อตกลงซื้อที่ดินและบ้านในโครงการดังกล่าว ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาจ้างปลูกสร้างบ้านกับจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่ทำสัญญาแล้วว่าที่ดินแปลงที่จำเลยทั้งสองนำมาจัดสรรยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นที่มิใช่จำเลยทั้งสอง ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะซื้อที่ดิน1 แปลง ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2534 ได้ผ่อนชำระเงินดาวน์190,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองแล้ว ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งจะซื้อที่ดิน4 แปลง ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2534 ฉบับลงวันที่ 7พฤษภาคม 2534 และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินลงวันที่ 16 ธันวาคม2534 รวม 2 ฉบับ ได้ผ่อนชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองแล้ว400,000 บาท แต่ไม่มีการปลูกสร้างบ้านในที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองจะซื้อตามสัญญา และจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาให้ผู้เสียหายทั้งสองได้เนื่องจากเกิดข้อพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองกับผู้จะขายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ ผู้เสียหายทั้งสองติดต่อทวงถามให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาหรือคืนเงินให้ แต่ไม่เป็นผลและจำเลยทั้งสองปิดสำนักงานขายไปเมื่อปลายปี 2535 ต่อมาผู้เสียหายทั้งสองกับพวกร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อทางราชการเมื่อวันที่ 5มกราคม 2539 จังหวัดสมุทรสงครามตอบข้อร้องเรียนดังกล่าวว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลอกลวงผู้ซื้อมาแต่ต้นเพราะที่ดินแปลงนี้มิใช่ของจำเลยทั้งสอง และการกระทำของจำเลยทั้งสองน่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343ผู้เสียหายทั้งสองจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง

คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ผู้จะขายหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญาไม่ เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 แล้วว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญากันนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงมิได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด เพราะที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ก็มีอยู่จริง และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง หากไม่มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างจำเลยทั้งสองกับเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติตามสัญญากันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ดังที่จำเลยทั้งสองไม่เคยปฏิเสธสัญญาที่ทำกับผู้เสียหายทั้งสองและไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง เพียงแต่ยังไม่มีเงินคืนให้ผู้เสียหายทั้งสองได้ตามที่เรียกร้องและผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมเปลี่ยนไปเอาที่ดินในโครงการอื่นของจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองเสนอให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งกล่าวคือไม่ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นเวลาในอนาคตของเวลาที่ทำสัญญากันเท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าจะไม่ดำเนินการจัดสรรต่อไปจนเสร็จตามที่โฆษณาไว้นั้นจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวและที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบว่ามีการขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมายมีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดิน ผู้รับเหมา วิศวกร สาธารณูปโภคฯลฯ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสอง มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องนำสืบให้พ้นผิด อย่างไรก็ดี หากจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและบ้าน ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานจะดำเนินการแก่จำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจนำมาเกี่ยวข้องในการวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องได้

พิพากษายืน

Share