คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1673/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สมุห์บัญชีและพนักงานเทศบาลผู้มีหน้าที่ตรวจและควบคุมงานจ้างหักเงินที่จ่ายแก่ผู้รับเหมาไว้ร้อยละ 10 แบ่งกัน เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย ผู้ได้รับอำนาจสอบสวนตามประกาศทำการสอบสวนแล้ว อัยการฟ้องได้
จำเลยที่ 5 ถอนอุทธรณ์ก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตและออกหมายแจ้งโทษเด็ดขาดแล้วจำเลยอื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 5 คนเดียวไม่ชอบ ให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 คนละ 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุกจำเลยที่ 2 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 157 1 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นยกฟ้องจำเลยที่ 5 โจทก์และจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เฉพาะจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนั้น จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2519 และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เนื่องจากยังไม่ได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ถอนอุทธรณ์ได้ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2519 ดังนั้นคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 จึงเป็นอันเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 ที่ศาลอุทธรณ์ได้รับวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวแก่จำเลยที่ 5 ว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้น แล้วพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 นั้นเป็นการไม่ชอบศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาเกี่ยวแก่จำเลยที่ 5 และที่โจทก์ฎีกามาทั้งหมดเป็นฎีกาข้อเท็จจริงที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 5 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์

ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นการไม่ชอบ แต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกามาด้วย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าบุคคลที่คณะปฏิวัติตั้งขึ้นมาสอบสวนคดีนี้ไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการกระทำผิดตามฟ้องอยู่นอกขอบอำนาจหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว ถือได้ว่าไม่มีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าตามเอกสารที่โจทก์ส่งศาลปรากฏว่ามีคำสั่งกองบัญชาการคณะปฏิวัติที่ 280/2515 ลงชื่อจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ แต่งตั้งให้พันโทณรงค์ กิตติขจร เป็นผู้อำนวยการสืบสวนสอบสวนจับกุมควบคุมตัวบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมรวมทั้งให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ตามความจำเป็น จากนั้นหัวหน้าคณะปฏิวัติได้มีคำสั่งที่ 292/2515 เพิ่มเติมคำสั่งฉบับแรกว่ามีบุคคลบางคน บางกลุ่ม ได้บีบบังคับข่มขืนใจ อันเป็นการเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรม หรือกระทำการใด ๆอันน่าจะเป็นภัยต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของประชาชนการบริหารของรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ดังนั้นเพื่อที่จะขจัดบุคคลดังกล่าวมิให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ จึงแต่งตั้งให้พันโทณรงค์ กิตติขจร มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าวข้างต้นและต่อมาหัวหน้าคณะปฏิวัติได้มีคำสั่งที่ 347/2515 เพิ่มเติมคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว ยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของพันโทณรงค์ว่าให้มีอำนาจครอบคลุมไปถึงการกระทำทั้งหลายทั้งในส่วนอาญาและส่วนแพ่งการจับกุมคุมขังก็ให้กระทำไปโดยมิต้องขออนุญาตหรือขอคำสั่งศาล และให้คุมขังไว้ได้จนกว่าจะมีคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติให้ปล่อยตัวหรือลงโทษแล้วแต่กรณี จากนั้นพันโทณรงค์ได้มีคำสั่งของกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมที่ 3/2515 โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิวัติที่กล่าวมาแล้ว แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทางจังหวัดภาคเหนือซึ่งมีจังหวัดลำปางรวมอยู่ด้วย โดยตั้งให้พันเอกอารี ธิยะใจ เป็นหัวหน้าสืบสวนและสอบสวน กับตั้งบุคคลอื่นอีก 18 คนรวมทั้งร้อยตำรวจโทสมชาย สุทธิไวยกิจ ผู้จดคำให้การผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนและสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติซึ่งมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นเป็นอำนาจสูงสุด คำสั่งทุกฉบับเสมือนเป็นกฎหมาย การที่พันเอกอารีกับพวกดำเนินการสืบสวน จับกุม และสอบสวนคดีนี้ก็เพราะจำเลยทุกคนเป็นเจ้าพนักงานของเทศบาล ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ในการก่อสร้าง ก็ย่อมเป็นภัยที่กระทบกระเทือนต่อการบริหารของรัฐ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ อยู่ในขอบอำนาจตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ คณะบุคคลดังกล่าวจึงเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบแล้วโจทก์มี อำนาจฟ้อง” ฯลฯ

“ข้อเท็จจริงก็ยังฟังได้ว่าผู้รับเหมาทั้งสองได้ให้เงินแก่จำเลยที่ 2 ทุกครั้งที่จ่ายเงินค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นรายงวดหรือเมื่องานเสร็จลง มีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าเงินที่หักเอาไว้นั้น จำเลยที่ 2 เอาไว้เพื่อประโยชน์ของตนคนเดียวหรือเพื่อจำเลยคนอื่น ๆ ด้วย ในทางสอบสวนจำเลยที่ 2 ได้ให้การตอนแรกเมื่อถูกสอบในฐานะพยานว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้หักเงินไว้ร้อยละ 10 ของการจ่ายเงินแต่ละงวด จำเลยที่ 2 จึงหักไว้ตามคำสั่งแล้วนำไปมอบแก่จำเลยที่ 1เหตุที่ผู้รับเหมายอมให้หักเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความสะดวกในการทำงานกับเทศบาล เพราะจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง ทั้งควบคุมแผนกช่างกับแผนกคลังด้วย เงินที่หักไว้นี้แบ่งกันหลายคน ตั้งแต่นายกเทศมนตรีจำเลยที่ 1 ปลัดเทศบาล และพวกแผนกช่าง ครั้นต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพ ปรากฏตามคำเบิกความของพันเอกอารีพยานโจทก์และจำเลยคำให้การชั้นสอบสวนที่โจทก์ส่งศาล ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นสมุห์บัญชี ไม่มีหน้าที่ให้คุณให้โทษในด้านการควบคุมงานและตรวจรับมอบงานฉะนั้นลำพังจำเลยที่ 2 คนเดียวไม่อยู่ในวิสัยที่จะใช้อำนาจหักเงินเองได้ ถึงจะขอหักเงิน ผู้รับเหมาก็คงไม่ยอมให้ จึงเชื่อได้ว่าเงินที่หักไว้นี้จะต้องหักไว้ร้อยละ 10 ดังฟ้องและจะต้องนำไปแบ่งกันในระหว่างจำเลยที่ 2กับผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมและตรวจรับมอบงาน คือจำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4ดังเช่นที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ตอนถูกสอบสวนในฐานะพยาน เงินที่หักไว้นี้ แม้ว่านายสมบูรณ์และนายอินทบูนจะเบิกความในชั้นศาลว่าเพื่อช่วยในการเลี้ยงงานสงกรานต์ งานวันเด็ก หรืองานปีใหม่ ก็เป็นความเข้าใจของตนซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะเอาเงินไปทำประการใด ผู้รับเหมาทั้งสองย่อมไม่มีทางรู้ ถือได้ว่าเป็นการเรียกหรือยอมรับเงินโดยมิชอบจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ตรวจการจ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ควบคุมงานจ้างของเทศบาล ดังนั้นการเรียกและรับเงินดังกล่าวเพื่อการกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง จึงมีความผิดตามบทกฎหมายที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว”

พิพากษาแก้ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 5 บังคับตามศาลชั้นต้น

Share