คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1673/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 3 บัญญัติว่า “สิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจยึดในเวลาใด ๆ และ ณ สถานที่ใด ๆ ก็ได้
สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนดหกสิบวันสำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด สามสิบวันสำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันยึด ให้ถือว่าเป็นสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน” นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีการร้องขอคืนของกลางที่ถูกยึดโดยไม่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลเท่านั้น หากพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ประสงค์จะใช้บังคับแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย ก็คงจะได้บัญญัติกำหนดระยะเวลาเรียกร้องคืนของกลาง “นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด” ไว้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคแรก หากถือว่าของกลางตกเป็นของแผ่นดินแล้วพนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่จำต้องร้องขอให้ศาลพิพากษาริบของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ให้ตกเป็นของแผ่นดินอีก
มาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติอันเป็นหลักทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในภาค 1 ของประมวลกฎหมายอาญานี้ ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้นจะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวก็มิได้บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอคืนของกลางไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวก็มิได้บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอคืนของกลางที่มีตัวผู้ต้องหาและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลไว้ด้วย ฉะนั้นในคดีที่ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล และศาลพิพากษาสั่งริบเรือของกลางที่ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 ต้องถือว่าเป็นการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 วรรคแรก ผู้มีสิทธิเรียกร้องเอาเรือของกลางคืนได้ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 36
ประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 36 ไม่ขัดกันกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เพราะใช้บังคับต่างกรณีกัน ดังนี้จะนำพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 120 ซึ่งบัญญัติไว้ใจความว่า เมื่อใดพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายอื่นให้ยกเอาบัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากรขึ้นใช้บังคับในกรณีที่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลไม่ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2512)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๐ จำเลยกับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้ร่วมกันใช้เรือยนต์ติดท้าย ๑ ลำ พาเอาสินค้าต่างประเทศที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีอากรเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ พร้อมด้วยเรือยนต์ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๑๐ ศาลพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร ปรับจำเลย ๓๘,๒๕๐ บาท ๕๐ สตางค์ กับให้ริบเรือและสินค้าของกลาง
ครั้นวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๑ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องว่า เรือยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง ให้จำเลยเช่าไปใช้ในกิจการอย่างอื่น มิได้ให้เช่าเพื่อให้ใช้ในการอันผิดกฎหมาย ผู้ร้องไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำของจำเลย ขอให้ศาลสั่งคืนเรือของกลางแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วเชื่อว่าเรือของกลางเป็นของผู้ร้อง ซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย จึงมีคำสั่งให้คืนเรือของกลางให้ผู้ร้องไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนเรือของกลางเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันถูกยึด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืน พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่ว่า การร้องขอคืนของกลางที่ถูกยึดไว้ในคดีอาญานั้นแยกได้เป็น ๒ กรณี กรณีหนึ่งได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลโดยจับตัวผู้ต้องหาไม่และการฟ้องนั้นได้ขอให้ศาลเช่นจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ส่วนอีกกรณีหนึ่งได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลพิพากษาริบของกลางที่ยึดไว้นั้นด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “สิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึดเวลาใด ๆ และ ณ ที่ใด ๆ ก็ได้
สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนดหกสิบวัน สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิดสามสิบวันสำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันยึด ให้ถือว่าเป็นสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน” นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีการร้องขอคืนของกลางที่ถูกยึดโดยไม่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลเท่านั้น โดยกำหนดระยะเวลายื่นคำร้องขอรับของกลางคือ “นับแต่วันที่ยึด” หากกฎหมาย ประสงค์จะใช้บังคับแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย กฎหมายคงจะได้บัญญัติกำหนดระยะเวลาเรียกร้องคืนของกลาง “นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด” ไว้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๗ วรรคแรก ความว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาญา กรรมสิทธิ์แห่งสิ่งใด ๆ ซึ่งได้ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำผิดโดยประการอื่น และได้สั่งไว้ในความรักษาของกรมในรัฐบาลนั้น ท่านว่าตกเป็นของแผ่นดิน ถ้าเจ้าของมิได้เรียกเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วันส่ง หรือถ้าได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้วนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ถ้าไม่ทราบตัวเจ้าของ ท่านให้ผ่อนเวลาออกไปเป็นห้าปี” และถ้าเมื่อถือว่าของกลางตกเป็นของแผ่นดินแล้วก็ไม่จำเป็นอย่างไรที่พนักงานอัยการโจทก์จะต้องร้องขอให้ศาลพิพากษาริบของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ให้ตกเป็นของแผ่นดินอีก
เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา ๒๔ นี้ เดิมกำหนดระยะเวลาขอคืนของกลางที่ถูกยึดไว้ ๖ เดือนนับแต่วันยึด ได้ถูกแก้ไขครั้งสุดท้ายโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้สั้นเข้าเหลือ ๖๐ วัน สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด ๓๐ วัน สำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันยึด โดยให้เหตุผลว่า “การยึดของกลางในการกระทำผิดกฎหมายศุลกากร ในกรณีไม่มีตัวผู้ต้องหาว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการล่าช้ามากเกินสมควรโดยไม่จำเป็น ทำให้ของกลางนั้นเสื่อมคุณภาพ ทั้งเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหาอย่างใดแล้ว และเป็นเหตุให้ผู้แจ้งความนำจับและเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้รับเงินสินบนและรางวัลล่าช้าไปด้วย เป็นผลเสียไปการปราบปราม จึงจำเป็นต้องย่นระยะเวลาให้สั้นเข้า” (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ ตอนที่ ๑๕ วันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๙๗ หน้า ๓๗๑ ) เช่นนี้แล้ว การที่จะตีความให้กว้างออกไปจนถึงกับว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาของกลางที่ถูกยึดไว้นั้นคืนภายในระยะเวลาที่กฎหมายศุลกากรกำหนดไว้แล้ว เจ้าของหรือผู้มีสิทธิหมดสิทธิที่จะมายื่นคำร้องเรียกเอาที่ศาลอีกเช่นนี้ หาเป็นการถูกต้องไม่
ในคดีนี้ศาลพิพากษาสั่งริบเรือของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๒ ก็ตาม ต้องถือว่าอยู่ในข่ายเป็นการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายมาตรา ๓๓ วรรคแรก และผู้มีสิทธิเรียกร้องเอาเรือของกลางคืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ ซึ่งบัญญัติว่า” ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓ หรือ ๓๔ ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันพิพากษาถึงที่สุด” และมาตรา ๑๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติอันเป็นหลักทั่วไปตามที่ได้บัญญัติไว้ในภาค ๑ ของประมวลกฎหมายอาญานี้ ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) มาตรา ๓ ให้บังคับเฉพาะกรณีการร้องขอคืนของกบางที่ไม่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล ส่วนกรณีการร้องขอคืนของกลางที่มีตัวผู้ร้องหา และมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั้นไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร จึงเรียกไม่ได้ว่าพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ได้บัญญัติกรณีดังกล่าวแล้วไว้เป็นอย่างอื่น
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๒๐ ซึ่งบัญญัติไว้ใจความว่า เมื่อใดพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายอื่น ให้ยกเอาบัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากรขึ้นใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ ไม่ได้แตกต่างกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ แต่ใช้บังคับต่างกรณีกัน และไม่ขัดกัน ดังนี้ จึงนำพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๒๐ มาใช้บังคับไม่ได้
พิพากษายืน

Share