คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1671/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเป็นเพียงหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ร้องรับรู้ว่าการรับโอนที่ดินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับ อ.และระหว่างอ.กับผู้ร้องเป็นการโอนขายที่ดินภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด แม้จะมีถ้อยคำขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1ภายใน 30 วัน อยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อผลถึงที่สุดแล้วหากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม ผู้คัดค้านหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ก็หามีอำนาจที่จะถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเด็ดขาดไม่เพราะไม่ถือว่าการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 1 ที่มีมาก่อนการขอให้ลูกหนี้ที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องจึงยังไม่ได้รับความเสียหายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27307 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร คืนให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 27307 จากนางอัญชัญ รัตนาภรณ์ เจ้าของกรรมสิทธิ์มิใช่ซื้อจากลูกหนี้ที่ 1 ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นทอด ๆ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ผู้ร้องโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ผู้ร้องเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 27307 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เป็นที่ดินส่วนหนึ่งที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 25557, 25558, 25559 และ 25560 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ ต่อมามีการรวมที่ดินทั้ง 4 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 25557 แล้วแบ่งแยกเป็นที่ดินแปลงย่อยอีกหลายแปลงรวมทั้งแปลงที่ผู้ร้องรับโอน การโอนที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นการโอนภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24ทำให้นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการโอนต่อไปการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนขอให้ดำเนินการโอนที่ดินดังกล่าวก่อนจะร้องขอต่อศาลเป็นการแจ้งให้ผู้รับโอนทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการโอนเท่านั้นมิใช่เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องร้องคัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้อง คำคัดค้าน และคำร้องขอให้ชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นของผู้คัดค้านแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ของ ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วหนังสือดังกล่าวของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2541ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำร้องลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2541ของผู้คัดค้านนั้นมีข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นข้อยุติได้จากทางสอบสวนผู้คัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2536ลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 25557 ถึงโฉนดเลขที่ 25560 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพรรวม 4 แปลง ให้แก่นายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ ต่อมานายอนุรักษ์กับบุคคลอื่นได้รวมโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลงเข้าด้วยกันเป็นโฉนดเดียวแล้วได้แบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงหรือหลายโฉนดขายเป็นทอด ๆให้ผู้ร้องหนึ่งแปลง การโอนที่ดินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับนายอนุรักษ์และระหว่างนายอนุรักษ์กับผู้ร้องเป็นการโอนขายที่ดินภายหลังวันที่ 8 มกราคม 2535 อันเป็นการโอนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านจึงมีความเห็นว่าการที่ลูกหนี้ที่ 1 โอนที่ดินให้แก่นายอนุรักษ์และที่นายอนุรักษ์โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายล้มละลาย เห็นว่า การกระทำดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องนี้ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกและสิทธิของบุคคลภายนอกหากจะได้รับผลกระทบถึง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินคดีขอให้เพิกถอนต่อไป ดังนั้นหนังสือของผู้คัดค้านที่ ยธ.0407/124 ลงวันที่ 13 มกราคม 2541จึงเป็นเพียงหนังสือของผู้คัดค้านแจ้งเตือนให้ผู้ร้องรับรู้ว่าการโอนที่ดินดังกล่าวไว้นั้นไม่ชอบแม้จะมีถ้อยคำขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ภายใน 30 วันอยู่ด้วยก็ตามแต่เมื่อผลถึงที่สุดแล้วหากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม ผู้คัดค้านหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็หามีอำนาจที่จะถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเด็ดขาดได้ไม่ เพราะไม่ถือว่าการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 1 ที่มีมาก่อนการขอให้ลูกหนี้ที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องจึงยังไม่ได้รับความเสียหายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างนั้นมีข้อเท็จจริงต่างจากคำร้องของผู้ร้องอีกทั้งฎีกาข้ออื่นเรื่องอายุความเป็นฎีกาที่ผู้ร้องมิได้ว่ากล่าวไว้ในคำร้อง ฎีกาผู้ร้องส่วนนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share