คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของสามยทรัพย์ การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินของกระทรวงการคลังเป็นที่ตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของโจทก์ขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าออก มิได้เป็นการใช้แทนหรือทำในนามหรือเพื่อประโยชน์ของกระทรวงการคลังอันจะก่อให้เกิดภารจำยอมแก่สามยทรัพย์ แม้จะใช้มาเป็นเวลา 10 ปีเศษก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอม จำเลยจะอ้างสิทธิว่าได้ใช้ทางพิพาทจนได้ภารจำยอมแก่กระทรวงการคลังเจ้าของที่ดินผู้ให้เช่าแล้วไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 49373, 49374, 49409 และ 49413 เนื้อที่รวมกันประมาณ 5 ไร่ เมื่อประมาณปี 2525 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุช เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารการไปรษณีย์และโทรเลข จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินงานกิจการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุชจำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกที่ทำการของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ด้านทิศใต้เป็นเนื้อที่ประมาณ 40 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โฉนดเลขที่ 49373, 49374, 49409 และ 49413 และปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมภายใน 1 เดือน นับแต่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ดำเนินการแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จริงแต่ไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินโจทก์ทั้งสี่ประมาณปลายปี 2522 จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 115304และ 99844 จากกระทรวงการคลัง และได้ก่อสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุชลงในที่ดินดังกล่าว ถนนพิพาทเดิมเป็นถนนลูกรัง ต่อมาประมาณปลายปี 2522 ได้มีการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นแทนที่ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกรถยนต์ของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุช จำเลยที่ 1 ได้ใช้ประโยชน์ในถนนพิพาทขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าออกที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุชโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ถนนพิพาทจึงเป็นทางภารจำยอมของกระทรวงการคลังเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 115304และ 998444 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรื้อถอนถนนพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตามโฉนดเลขที่ 49373, 49374, 49409 และ 49413 แขวงสวนหลวงเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมส่วนคำขอที่ให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการเองหากจำเลยที่ 1ไม่ดำเนินการโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้นให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 49373, 49374, 49409และ 49413 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าที่ดินของกระทรวงการคลังโฉนดเลขที่ 115304 และ 99844 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ทั้งสี่จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุชในที่ดินที่เช่าจากกระทรวงการคลัง และก่อสร้างเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2523 ข้างตึกที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุชด้านติดกับที่ดินโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ได้สร้างถนนคอนกรีตและใช้เป็นทางให้รถยนต์เข้าออกที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอ่อนนุชส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 มีว่า ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมของกระทรวงการคลังเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 115304และ 99844 ที่จำเลยที่ 1 เช่าหรือไม่ ปรากฏว่าตอนเริ่มต้นเช่าทางพิพาทยังไม่ได้ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของกระทรวงการคลังที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าจะมีสิทธิใช้ แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เช่าที่ดินของกระทรวงการคลัง และใช้ทางพิพาทขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 จนครบ 10 ปี ทางพิพาทจะเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของกระทรวงการคลังหรือไม่นั้นเห็นว่า ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของสามยทรัพย์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินของกระทรวงการคลังเท่านั้น มิได้เป็นการใช้แทนหรือทำในนามหรือเพื่อประโยชน์ของกระทรวงการคลังอันจะก่อให้เกิดภารจำยอมให้สามยทรัพย์ การใช้ทางพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกิดภารจำยอมแม้จะใช้มาเป็นเวลา 10 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าจะอ้างสิทธิว่าได้ใช้ทางพิพาทจนได้ภารจำยอมแก่เจ้าของที่ดินผู้ให้เช่าหาได้ไม่ เมื่อทางพิพาทไม่ใช่ภารจำยอม จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิจะใช้ทางพิพาทเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ทั้งสี่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share