คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1667/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำรถยนต์ของจำเลยซึ่งศาลได้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้โอนขายหรือจำหน่ายในคดีหนึ่งอยู่แล้วไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์โดยรับรองกับโจทก์ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เดียวไม่ โดยนำไปขายหรือจำนำหรือทำสัญญาใดผูกพันรถยนต์ดังกล่าวเลย แล้วจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์นั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำความเท็จมาหลอกลวงโจทก์ว่า รถยนต์ของจำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยไม่เคยนำไปขายหรือจำนำหรือสัญญาใด ๆ ผูกพันหนี้สินเกี่ยวแก่รถยนต์ ดังนี้ แล้วขอขายให้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อรับซื้อไว้และจ่ายเงินให้จำเลยเป็นค่ารถยนต์ ๓๐,๐๐๐ บาท ถึงกำหนดนัดโอนทะเบียนและส่งมอบ จำเลยไม่จัดการอย่างใด ความจริงปรากฎว่า ศาลจังหวัดราชบุรีได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวแก่รถยนต์ของจำเลยไว้ และจำเลยได้จำนำรถยนต์ของจำเลยไว้แก่ธนาคารด้วย จำเลยจึงโอนรถยนต์ของจำเลยให้โจทก์ไม่ได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
ศาลแขวงราชบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยฟังว่าจำเลยไม่ได้นำรถยนต์ของจำเลยไปจำนำหรือประกันหนี้ไว้กับธนาคาร และคำสั่งห้ามชั่วคราว ของศาลจังหวัดราชบุรีนั้น จำเลยอาจปลดเปลื้องเสียเมื่อใดก็ได้โดยปฏิบัติตามคำพิพากษาเสีย การกระทำของจำเลยยังไม่ผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๘๑ หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลจะได้มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยโอนขายหรือจำหน่ายรถยนต์ของจำเลย คำสั่งนั้นก็เป็นเพียงคำสั่งห้ามชั่วคราว รถยนต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จำเลยอาจโอนขายให้โจทก์ได้ตามสัญญา เพราะคำสั่งห้ามชั่วคราวนั้นย่อมยกเลิกไปในตัวเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีนั้นแล้ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๖๐ (๒)) พฤติการณ์ของจำเลยจะฟังว่าจำเลยได้กล่าวเท็จต่อโจทก์ด้วยเจตนาทุจริตมาแต่ต้นหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญา ก็เป็นเรื่องการผิดนัดผิดสัญญาในทางแพ่งการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย

Share