คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เคยมาติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 กรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องตัวแทนเชิดเพราะการตัวแทนเชิดนั้นตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ปลูกอาคารพาณิชย์ขนาด 4 ชั้นครึ่ง จำนวน 5 ห้อง บนที่ดินโฉนดเลขที่ 110 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 4,200,000 บาท จำเลยทั้งสองตกลงแบ่งชำระค่าจ้างให้โจทก์เป็นงวดรวม 8 งวด ภายหลังทำสัญญาโจทก์ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ตามข้อตกลงในสัญญาและส่งมอบให้จำเลยทั้งสองเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 ซึ่งในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชำระเงินค่าจ้างในงวดที่ 7 และที่ 8 ที่ยังค้างชำระรวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 752,356 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 700,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาร่วมลงทุนปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อขายให้บุคคลทั่วไปแล้วนำกำไรที่ได้มาแบ่งกันโดยจำเลยที่ 2 ลงทุนในส่วนของที่ดิน คือที่ดินโฉนดเลขที่ 110 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ลงทุนในส่วนของการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 5 ห้อง ลงบนที่ดินของจำเลยที่ 2 ด้วยตนเอง จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อย่างไรก็ตามต่อมาภายหลังจากที่โจทก์ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว โจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จำนวน 1 ห้อง จากจำเลยทั้งสองในราคา 3,000,000 บาท ได้วางเงินมัดจำจำนวน 450,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ชำระแทนด้วยการหักกลบลบหนี้จากเงินค่าจ้างก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท นอกจากนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังได้หักกลบลบหนี้ค่าเปลี่ยนพื้นอาคารพาณิชย์จากพื้นหินขัดเป็นพื้นปูธรรมดาออกจากเงินค่าก่อสร้างที่ค้างชำระอีกจำนวน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงยังคงค้างชำระหนี้ค่าก่อสร้างอาคารพาณิชย์แก่โจทก์อีกเพียง 200,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงจำชำระคืนให้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมออกหลักฐานดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงยังมิได้ชำระหนี้ค่าก่อสร้างที่ยังค้างชำระจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และจากต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยทั้งหมดคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 มกราคม 2541) ให้รวมกันไม่เกิน 52,356 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 5 ห้อง เป็นเงิน 4,200,000 บาท ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 110 ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวแล้วเสร็จตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างไม่ครบถ้วนตามสัญญามีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้จ้างโจทก์หรือเชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเพื่อว่าจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างแต่อย่างใด การดำเนินการทั้งหมดจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการเอง เห็นว่า โจทก์มีนางสาวทิพวรรณ หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เบิกความโดยมีพยานเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9 สนับสนุน ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ยังค้างชำระค่าก่อสร้างโจทก์ตามคำฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ก็นำสืบยืนยันว่าไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์ตามคำให้การ โดยมีเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 สนับสนุน เมื่อพิจารณาเหตุผลแล้ว สัญญาร่วมลงทุนระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น โจทก์ไม่เคยเห็นมาก่อนทั้งการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ทั้งห้าห้องได้ก่อสร้างลงบนที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยพูดเรื่องการร่วมลงทุนระหว่างจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทราบเลย และจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลตำบลแม่สอดด้วยตนเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์เสร็จ นางสาวทิพวรรณตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย ล.2 นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำนวนหนี้ตามคำฟ้องไม่ถูกต้องเพราะจะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าพื้นหินขัดออกก่อนจำเลยที่ 1 จึงยังค้างค่าจ้างก่อสร้างอยู่เพียง 200,000 บาท มิใช่ 700,000 บาท นั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจำเลยที่ 2 จึงจะยอมให้มีการหักจำนวนเงินดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างกันได้ เพราะหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารพาณิชย์ไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ไม่สมเหตุสมผล จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เคยมาติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามเอกสารหมาย จ.2 กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 กรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องตัวแทนเชิดเพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้นตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าค่าจ้างก่อสร้างงวดที่ 7 และที่ 8 เป็นเงิน 700,000 บาท ยังมิได้ชำระแก่โจทก์ แต่อ้างว่านางสาวทิพวรรณหักเป็นหนี้ค่าวางมัดจำจำนวน 450,000 บาท และค่าพื้นหินขัดจำนวน 50,000 บาท จึงยังค้างค่าจ้างก่อสร้างอยู่เพียงจำนวน 200,000 บาท เท่านั้น เห็นว่า นางสาวทิพวรรณปฏิเสธว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่เกี่ยวกับค่าจ้างก่อสร้างงวดที่ 7 และที่ 8 และไม่ได้นำมาหักกลบลบหนี้กันและแม้จำเลยที่ 2 จะมีเอกสารหมาย ล.3 ระบุว่า หักค่าหินขัดมาแสดง แต่ข้อความตามเอกสารไม่ชัดเจนพอว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2 ให้หักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากค่าจ้างก่อสร้างงวดที่ 7 และที่ 8 ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ค้างชำระหนี้ค่าจ้างเหมาก่อสร้างจำนวน 700,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์

Share