คำวินิจฉัยที่ 65/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ ๒ กรณีจำเลยทั้งสองแจ้งข้อความเป็นหนังสือราชการในลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์อ้างตามฟ้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองในการออกหนังสือราชการที่โจทก์กล่าวอ้าง มิได้มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๕/๒๕๕๗

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ที่ ๑ นายบุญเสริม ไกรสินธุ์ ที่ ๒ จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๓๑๐/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๓๗๑/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายกรณีจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด โดยเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๑ ตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดโดยมีข้อความว่า การดำเนินการของโจทก์มีลักษณะเข้าข่ายการประกันชีวิต ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์และแจ้งให้สหกรณ์จังหวัดเตือนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการหรือจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการใช้ความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมโครงการกับโจทก์ และเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๒ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ ๒ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้มีหนังสือที่มีข้อความตามหนังสือของจำเลยที่ ๑ แจ้งไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ในเขตพื้นที่ ๒ อันเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและขาดรายได้จากการดำเนินการฌาปนกิจสงเคราะห์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยสุจริตในอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ป้องปรามการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์และสมาชิกทั่วประเทศ ข้อความที่ปรากฏตามฟ้องมิได้เป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นเพียงข้อความที่แจ้งข้อเท็จจริงให้สมาชิกสหกรณ์ทราบเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดที่เกิดจากการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๓ อีกทั้งแม้จำเลยทั้งสองจะออกหนังสือเป็นหนังสือราชการในนามของกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งไปทั่วประเทศตามจังหวัดต่างๆ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าการออกหนังสือของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นใดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาการกระทำการหรือไม่กระทำการ หรือคำสั่งที่มีการควบคุมในการทำธุรกิจการงานในกิจการสหกรณ์ต่อสมาชิกสหกรณ์ กรณีจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ และมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียน ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น … ฯลฯ เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และการกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์กระทำการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ (๑) โดยการให้คำแนะนำและกำกับดูแลสหกรณ์ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย มิให้กระทำกิจกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือกฎหมายอื่น การที่โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายกรณีจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดโดยมีข้อความว่าการดำเนินการของโจทก์มีลักษณะเข้าข่ายการประกันชีวิต ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ และแจ้งให้สหกรณ์จังหวัดเตือนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการหรือจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการใช้ความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมโครงการกับโจทก์ และจำเลยที่ ๒ ได้แจ้งข้อความดังกล่าวไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ในเขตพื้นที่ ๒ อันเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองกระทำการโดยสุจริตในอำนาจหน้าที่ ข้อความที่ปรากฏตามฟ้องมิได้เป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นเพียงข้อความที่แจ้งข้อเท็จจริงให้สมาชิกสหกรณ์ทราบเท่านั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์อ้างตามฟ้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองในการมีหนังสือแจ้งเตือนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการหรือจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการใช้ความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมโครงการกับโจทก์ มิได้มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ที่ ๑ นายบุญเสริม ไกรสินธุ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share