แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยแบ่งการจัดซื้อยาโดยลดวงเงินแต่ละครั้งให้เหลือครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจของจำเลยที่จะจัดซื้อได้โดยวิธีตกลงราคา จึงเป็นวิธีการเพื่อให้แบ่งซื้อสำเร็จ สามารถใช้เงินงบประมาณปลายปีได้หมดตามเจตนาของจำเลย หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 แม้จำเลยจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2540 รวม 10 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2541 รวม 12 ครั้ง ถือว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะใช้เงินงบประมาณให้หมดในแต่ละปีงบประมาณ ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวในแต่ละปีงบประมาณ จึงเป็นความผิด 2 กระทง หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่จัดซื้อรวม 22 กระทง ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 151, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี จำนวน 2 กระทง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี จำนวน 2 กระทง รวมจำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งกระทงละ 6,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 12,000 บาท เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับกระทงละ 4,000 บาท รวมปรับ 8,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่บริหาร จัดการ และควบคุมดูแล การปฏิบัติงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ของทางราชการ รวมทั้งจัดซื้อยาให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 โดยจำเลยมีอำนาจสั่งซื้อครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท โดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 19 หากมีการซื้อครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ต้องทำโดยวิธีสอบราคาตามข้อ 20 และอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และจำเลยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการผลิตยา การขายยา การนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรให้เป็นไปโดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจำเลยมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ก่อนปี 2540 หรือก่อนเกิดเหตุ ฝ่ายเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี โดยนางวันเพ็ญ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อยาให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี รวมทั้งโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในเขตรับผิดชอบ ต่อมาระหว่างปี 2540 ถึงปี 2541 นางวันเพ็ญย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่อื่น จำเลยในฐานะนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้างาน/ฝ่ายอื่นในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุประจำกลุ่มงาน/ฝ่ายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเพื่อปฏิบัติหน้าที่จัดซื้อยาแทนฝ่ายเภสัชสาธารณสุข ต่อจากนั้นระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2540 และวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2541 นางมณฑินี เจ้าหน้าที่พัสดุ 5 นางอุดมลักษณ์ นักวิชาการควบคุมโรค 7 นางสุมาลี ทันตแพทย์ 8 นางจิราภรณ์ หัวหน้างานกามโรคและเอดส์ และนางนวรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ 8 ในฐานะหัวหน้างาน/ฝ่ายผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุประจำกลุ่มงาน/ฝ่ายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเพื่อจัดซื้อยา ต่างลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุขออนุมัติจัดซื้อยาต่อจำเลยซึ่งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเพื่อจัดซื้อยาแผนปัจจุบันจากบริษัทนีโอ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดรักสกุลแพทย์ภัณฑ์ และห้างหุ้นส่วนจำกัดวิน เมดิคอล รวมทั้งสิ้น 22 ครั้ง การสั่งซื้อครั้งหนึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท แล้วจำเลยในฐานะนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้ลงนามอนุมัติทุกครั้งตามฟ้อง ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ว่าจำเลยกับพวกทุจริตต่อหน้าที่ราชการหลายประการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว ผลรับฟังได้ว่าข้อร้องเรียนมีมูลว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทั้งด้านวินัย ทางอาญา และทางละเมิด กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง เป็นการแบ่งซื้อยาโดยลดวงเงินที่จัดซื้อในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใดหรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อเปลี่ยนไปจนอยู่ในอำนาจของจำเลยที่สามารถสั่งซื้อได้โดยวิธีตกลงราคา เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลโดยมิให้เสียหายแก่ราชการตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 แต่การซื้อยาแผนปัจจุบันจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายยา คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดวินัยในประเด็นนี้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงเช่นกัน แต่เนื่องจากจำเลยลาออกจากราชการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2549 แม้คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าสมควรลงโทษตัดเงินเดือนก็ไม่อาจลงโทษได้ เห็นควรงดโทษ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนามเห็นชอบด้วย นอกจากนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้ว คณะกรรมการมีความเห็นว่าราชการไม่ได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อยาโดยลดวงเงินของจำเลย ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น พยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังว่าข้อกล่าวหามีมูล จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และคณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า การกระทำของจำเลยกับพวกมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและทางอาญา จึงมีบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยกับพวกรับทราบและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนตรวจสอบเอกสารหลักฐานรวมทั้งมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อมาคณะอนุกรรมการไต่สวนมีความเห็นในส่วนของจำเลยว่า กรณีจัดซื้อยาเป็นการแบ่งซื้อ ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน แต่ที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงคณะอนุกรรมการไต่สวนไม่เห็นพ้องด้วย โดยมีความเห็นว่า จำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดแจ้งและมีการดำเนินการจัดซื้อในลักษณะแบ่งซื้อหลายครั้งหลายหนจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสองและมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนกรณีจัดซื้อยาแผนปัจจุบันจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายยา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขขอให้พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่จำเลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมติ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขจึงสั่งลงโทษให้ไล่ออกจากราชการ จำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ต่อมาคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เนื่องจากการอนุมัติจัดซื้อยาเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในสถานะของผู้บริหารหน่วยงาน ไม่ใช่การใช้อำนาจในสถานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขว่าการจัดซื้อต้องซื้อจากบริษัทห้างร้านที่ได้รับอนุญาตให้ขายยาเท่านั้น และก่อนที่จำเลยจะมาดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเคยจัดซื้อยาจากผู้ขายทั้งสามรายดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่เป็นความผิดวินัย และเห็นว่าการจัดซื้อยาเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างแต่ไม่ทำให้ราชการเสียหาย เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการจัดซื้อยาที่มีราคาแพงกว่าราคากลาง ดังนั้น การจัดซื้อยาแม้เป็นการแบ่งซื้อแต่ก็ไม่เป็นเหตุให้ราชการเสียหายหรือเสียหายก็ไม่ร้ายแรง โทษที่ได้รับไม่ควรถึงขั้นออกจากราชการ แต่ด้วยเหตุที่ต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ว่า การพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไว้ได้ จึงวินิจฉัยให้ลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 (7) มาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชพลเรือน พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกคำสั่งเรื่องลงโทษให้ไล่ออกจากราชการ และให้ลดโทษจำเลยจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ สำหรับการจัดซื้อยาจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายยา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตนั้น ในส่วนของความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตในการจัดซื้อยาจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์นั้น ย่อมเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนการจัดซื้อยาของจำเลยจากผู้ขายอันเป็นการจงใจแบ่งซื้อยาโดยลดวงเงินที่จะซื้อในครั้งเดียวกันไม่ให้เกิน 100,000 บาท เพื่อให้จำเลยมีอำนาจในการซื้อโดยวิธีตกลงราคา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คู่ความไม่ฎีกา ย่อมเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การจัดซื้อยาของจำเลยทั้ง 22 ครั้ง เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้ง เป็นการยอมรับข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยชอบแล้วว่า จำเลยเป็นคนสั่งการให้นางมณฑินี จัดทำบันทึกขออนุมัติจัดซื้อเวชภัณฑ์โดยเป็นคนกำหนดรายการและราคายา รายชื่อผู้ขายยาพร้อมมอบใบเสนอราคาให้ กำหนดให้จัดซื้อโดยวิธีตกลงราคา รวมทั้งกำหนดรายชื่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ เมื่อนางมณฑินีจัดทำแล้วก็ลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุผู้ขออนุมัติจัดซื้อเอง รวมทั้งนำไปให้นางอุดมลักษณ์ นางสุมาลี นางจิราภรณ์ และนางนวรัตน์ ลงชื่อในช่องเจ้าหน้าที่พัสดุผู้ขออนุมัติจัดซื้อ โดยที่นางมณฑินี นางอุดมลักษณ์ นางสุมาลี นางจิราภรณ์ และนางนวรัตน์ไม่ได้ติดต่อหรือต่อรองราคากับผู้ขายยาทั้งสามรายในการจัดซื้อแต่อย่างใด และเป็นการขออนุมัติจัดซื้อจากจำเลยครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท ให้อยู่ในอำนาจของจำเลยที่สามารถอนุมัติให้ซื้อได้โดยวิธีตกลงราคา โดยมีการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2540 รวม 10 ครั้ง และปีงบประมาณ 2541 รวม 12 ครั้ง การกระทำของจำเลยที่จงใจแบ่งซื้อยาโดยลดวงเงินดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง จำเลยในฐานะนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวทำให้เสียหายแก่ราชการ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้แสดงว่าจำเลยกระทำไปโดยทุจริต นอกเหนือจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ได้ความจากนางทศมาศว่า พยานเป็นภริยาของนายชีวิน ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและดำเนินการบริษัทนีโอฟาร์มาซูติคอล จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิน เมดิคอล และห้างหุ้นส่วนจำกัดรักสกุลแพทย์ภัณฑ์ และเป็นผู้นำชื่อพยานไปเป็นหุ้นส่วนโดยพยานไม่เคยเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนดังกล่าว พยานทราบจากนายชีวินว่า นายชีวินขอยืมชื่อ นายธนพงษ์ มาเปิดบริษัท และโจทก์มีสำเนาหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาแสดงว่า นายธนพงษ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท นางทศมาศเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดวิน เมดิคอล นายชีวินและนางทศมาศเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดรักสกุลแพทย์ภัณฑ์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับนายชีวิน นางทศมาศ นายธนพงษ์ บริษัทและห้างหุ้นส่วนทั้งสามแต่อย่างใด ทั้งได้ความจากนายชัยภัทร อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า จากการตรวจสอบ ปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อมโยงได้ว่ากรรมการ ผู้จัดการบริษัท และหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทและห้างหุ้นส่วนทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์กรณีที่ถูกกล่าวหาคดีนี้ ประกอบกับขณะเกิดเหตุคดีนี้ไม่มีกฎหมายใดกำหนดเป็นเงื่อนไขว่าการจัดซื้อยาต้องซื้อจากบริษัทห้างร้านที่ได้รับอนุญาตให้ขายยาเท่านั้น ต่อมามีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา พ.ศ.2543 ข้อ 8 เกี่ยวกับการให้ซื้อยาจากผู้ได้รับใบอนุญาตขายยา ก็มีขึ้นหลังเกิดเหตุคดีนี้ ดังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ตามที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวเห็นได้ว่า ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุคดีนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทห้างร้านหลายรายโดยมีทั้งรายที่ได้รับอนุญาตให้ขายยาและไม่ได้รับอนุญาตให้ขายยา และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลย บริษัทและห้างหุ้นส่วนทั้งสาม และนายชีวินมีความเกี่ยวพันเป็นพิเศษอย่างใดอันจะทำให้เห็นว่าการจัดซื้อยาในคดีนี้เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลย นายชีวิน หรือบริษัทและห้างหุ้นส่วนทั้งสามดังกล่าว นอกเหนือจากประโยชน์จากการซื้อขายตามปกติ ทั้งขณะเกิดเหตุหามีกฎหมายหรือระเบียบกระทรวงสาธารณสุขกำหนดห้ามมิให้มีการจัดซื้อยาจากบริษัทห้างร้านที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ขายยา พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสองว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม รวม 22 กระทง หรือไม่ เห็นว่า เงินงบประมาณที่จำเลยใช้จัดซื้อยาเป็นงบประมาณปลายปีที่เหลืออยู่การที่จำเลยแบ่งการจัดซื้อโดยลดวงเงินแต่ละครั้งให้เหลือครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจของจำเลยที่จะจัดซื้อได้โดยวิธีตกลงราคา จึงเป็นวิธีการเพื่อให้แบ่งซื้อสำเร็จ สามารถใช้งบประมาณปลายปีได้หมดตามเจตนาของจำเลย แม้จำเลยจัดซื้อในปีงบประมาณ 2540 ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2540 รวม 10 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2541 ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ถึง 4 กันยายน 2541 รวม 12 ครั้ง ถือว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะใช้เงินงบประมาณให้หมดในแต่ละปลายปีงบประมาณ ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวในแต่ละปลายปีงบประมาณ จึงเป็นความผิด 2 กระทง หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่จัดซื้อรวม 22 กระทง ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสามว่า ไม่ควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นกรณีที่จำเลยจงใจแบ่งซื้อยาโดยลดวงเงิน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง มิใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และมิใช่การทำเอกสารเท็จโดยไม่ได้ซื้อยาให้หน่วยงานในสังกัดจริงประกอบกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเห็นว่าราชการไม่ได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อโดยการแบ่งซื้อลดวงเงินของจำเลย และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมก็เห็นว่าการจัดซื้อยาเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างที่ไม่ทำให้ราชการเสียหายเนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการจัดซื้อยาที่มีราคาแพงกว่าราคากลาง ดังนั้น การจัดซื้อยาแม้เป็นการแบ่งซื้อแต่ก็ไม่เป็นเหตุให้ราชการเสียหายหรือเสียหายก็ไม่ร้ายแรง จึงวินิจฉัยให้ลดโทษจำเลยจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการเนื่องจากต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าไม่อาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงยกเลิกคำสั่งไล่ออกจากราชการและให้ลดโทษจำเลยเป็นปลดออกจากราชการ แม้คดีนี้จำเลยไม่รับสารภาพ แต่ก็นำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาในทำนองว่าเป็นการกระทำเพื่อกระจายอำนาจและทำให้หน่วยงานอนามัยในสังกัดได้รับยาไปบริการประชาชนได้ทันเหตุการณ์ จึงถือได้ว่าสภาพความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรง จำเลยรับราชการมานานจนดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี นับว่ามีคุณความดีมาแต่ก่อน เมื่อโทษจำคุกของจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน คดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี
พิพากษายืน