แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้น ไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา…” ดังนั้น หากในการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเงินรายได้จำนวนมากเกินภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลือคืน และเงินที่ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิมต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดเมื่อมีการขายทอดตลาดใหม่ได้ไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 นั้น เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม การที่จำเลยคดีนี้ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวไม่ยอมชำระ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 503,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยแถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 โดยขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำนวนเงิน 450,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นเบี้ยปรับหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 503,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์มิใช่คู่สัญญาในการขายทอดตลาดทรัพย์ที่มีการบังคับคดี และเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดต้องชำระแก่เจ้าหนี้ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 483/2550 ของศาลแพ่งธนบุรีนั้น แม้จำเลยจะเข้าทำสัญญาซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตาม แต่การทำสัญญาดังกล่าวเป็นการดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ และปลดเปลื้องภาระหนี้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนมากหรือน้อยย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสิ้น นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 322 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้นไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา…” ดังนั้น หากในการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเงินรายได้จำนวนมากเกินภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลือคืน และเงินที่ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิมต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดเมื่อมีการขายทอดตลาดใหม่ได้ไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 นั้น เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม การที่จำเลยคดีนี้ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวไม่ยอมชำระ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา55 แล้ว แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่ฟ้องจำเลย โจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาขายทอดตลาด ก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 บัญญัติว่า “ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด” การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาคนเดิมต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดจึงเป็นความรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดจำนวนไว้แน่นอนแล้วว่าเป็นส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้สู้ราคาคนเดิมเสนอกับราคาที่ขายได้ในครั้งหลัง แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้มีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้ กับมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้และนำออกขายทอดตลาดได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นผู้มีอำนาจรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้ก่อนที่จะนำมาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้อื่นของโจทก์กรณีมีการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้จากการบังคับคดีนี้ และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีต่อไป ซึ่งเงินค่าส่วนขาดราคาที่จำเลยต้องรับผิดชำระนี้ เป็นเงินได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นผู้มีอำนาจรับชำระไว้ก่อน หากมีเงินเหลือจากการจัดสรรชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าใช้จ่ายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงจะมีสิทธิรับไป นอกจากนี้ เงินมัดจำ 50,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเงินของจำเลยคดีนี้ที่จะต้องถูกริบเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าขาดราคาที่จำเลยต้องรับผิดชำระ ซึ่งต้องนำไปหักออกจากจำนวนที่โจทก์เรียกมาตามฟ้อง 450,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยต้องรับผิดจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2554 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไป การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์โดยมิได้ระบุให้ชำระแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน และให้ชำระเต็มจำนวนตามฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2555) ต้องไม่เกิน 53,250 บาท ตามที่โจทก์ขอ โดยให้ชำระเงินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้และจัดสรรชำระหนี้เสร็จแล้ว เหลือเงินสุทธิเท่าใดจึงจ่ายคืนแก่โจทก์คดีนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ