คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9570/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำแถลงของโจทก์ โจทก์อ้างเพียงว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 309 ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรของจำเลย เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงสุดเท่านั้น โดยโจทก์มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทมาตราใดและเพราะเหตุใด จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน ประกอบกับท้ายคำแถลงดังกล่าวโจทก์มีคำขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินภาษีตามคำขอท้ายฟ้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยื่นคำแถลงดังกล่าวก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาในลักษณะของการแถลงการณ์ปิดคดี เพื่อให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีตามคำฟ้องเท่านั้น คำแถลงของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 264 ที่ศาลชั้นต้นจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นยกคำแถลงแล้วพิจารณาคดีต่อไปจึงชอบแล้ว และเมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไป ตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร โจทก์จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 9 ตามมาตรา 3แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับที่ 309 ฯ ตามการประเมินของเจ้าพนักงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในวันชี้สองสถานว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7ต่อปีหรือไม่ ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์แถลงตอบศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวและขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจาขอผ่อนชำระค่าภาษีต่อจำเลยที่ 1 ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้เลื่อนคดีและนัดฟังคำพิพากษาแทนการนัดพร้อมในวันที่ 4 สิงหาคม 2543ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2543 โจทก์ยื่นคำแถลงว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 มาตรา 3 ที่ให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 9 และมาตรา 4 ที่ให้ยังคงใช้มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236)พ.ศ. 2534 ต่อไปสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่กระทำไปก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 309) ดังกล่าวใช้บังคับตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด กับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปีซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2540 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 309) ดังกล่าว ได้ออกมาจำกัดสิทธิของโจทก์ โดยเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้น จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใช้บังคับไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้อง ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่าคำแถลงของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าพระราชกฤษฎีกาและประกาศไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างไรทั้งมิได้อ้างบทมาตราในรัฐธรรมนูญมาด้วย ถือเป็นคำแถลงที่ไม่ชัดแจ้งและมิได้ทำเป็นคำร้องอันเป็นการไม่ชอบให้ยกคำแถลง คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานคู่ความ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในวันดังกล่าว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงอ้างว่าประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม2540 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 มาตรา 4 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลชั้นต้นได้รับข้อโต้แย้งดังกล่าวแล้วการที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิจารณาและส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 กลับพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 โจทก์อ้างเพียงว่าพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309)พ.ศ. 2540 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข การขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ของจำเลยที่ 1 เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงสุดเท่านั้นโดยโจทก์มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทมาตราใด และเพราะเหตุใด จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน ประกอบกับท้ายคำแถลงดังกล่าวโจทก์มีคำขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินภาษีตามคำขอท้ายฟ้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยื่นคำแถลงดังกล่าวก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาในลักษณะของแถลงการณ์ปิดคดีเพื่อให้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีตามคำฟ้องเท่านั้น คำแถลงของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 264 ที่ศาลภาษีอากรกลางจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การที่ศาลภาษีอากรกลางยกคำแถลงของโจทก์ แล้วพิจารณาคดีต่อไปจึงชอบแล้ว และเมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขายสินค้าหรือบริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี โจทก์จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 9ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540ตามการประเมินของเจ้าพนักงาน ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share