คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4398/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องแจ้งให้นายจ้างทราบ ซึ่งแตกต่างกับการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างและ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มิได้บัญญัติว่ากรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใดแต่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 47บัญญัติให้กรรมการลูกจ้างอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีแต่อาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ได้ แสดงว่ากรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้ง แม้จะยังไม่มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งก็ตามจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกับที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 52 อุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้รับการแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ให้เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงหาเหตุเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิมหรือจ่ายเงินแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับการแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ให้เป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่4 ตุลาคม 2535 แต่เป็นการแต่งตั้งโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 โจทก์ก็ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 50 โจทก์ขาดงาน ละทิ้งหน้าที่หลายครั้ง จำเลยได้เรียกโจทก์มาตักเตือนด้วยวาจาโจทก์ก็ยังฝ่าฝืนในเรื่องดังกล่าวอยู่เป็นประจำ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในสถานประกอบกิจการของจำเลยมีสหภาพแรงงานชื่อสหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ ลูกจ้างของจำเลยเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานดังกล่าวเกินหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2535 สหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างทั้งคณะ จำนวน 11 คน โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างด้วย แต่การแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างดังกล่าวไม่ชอบ เพราะมีลูกจ้างของจำเลยเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด วันที่ 3 มีนาคม 2536 สหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ได้แต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง 6 คน โดยโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างด้วยโจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 52 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงไม่ชอบ ประเด็นพิพาทข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและให้จ่ายค่าจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า กรรมการลูกจ้างที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52 จะต้องถือเอาตั้งแต่วันที่นายจ้างได้รับทราบการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างครบทั้งคณะ ในสถานประกอบกิจการของจำเลยมีคณะกรรมการลูกจ้างได้ทั้งหมด 11 คนแม้สหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์จะแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างในวันที่ 3 มีนาคม 2536 แต่สหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ก็แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างเพียง 6 คน ยังไม่มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างอื่นให้ครบทั้งคณะโจทก์จึงไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า สถานประกอบกิจการของจำเลยมีคณะกรรมการลูกจ้างได้จำนวน 11 คน ลูกจ้างของจำเลยเกินหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 สหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์ได้แต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง 6 คน โดยโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกันหลังจากที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างแล้วปัญหาวินิจฉัยมีว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใดเห็นว่า กรณีที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องแจ้งให้นายจ้างทราบ แตกต่างกับการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง ซึ่งมีประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง ลงวันที่16 พฤษภาคม 2518 ข้อ 17 กำหนดว่า ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งแจ้งให้นายจ้างและพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแห่งท้องที่ที่สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ได้ทราบโดยไม่ชักช้าว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้าง และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้บัญญัติว่ากรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใดแต่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 47 บัญญัติว่า”กรรมการลูกจ้างอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี แต่อาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ได้” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า กรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งสหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างวันที่ 3 มีนาคม 2536โดยแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างรวม 6 คน ตามที่กฎหมายกำหนดแม้จะยังไม่มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างอีก 5 คน โจทก์ก็เป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันดังกล่าวจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า ในวันที่ 3 มีนาคม 2536 ลูกจ้างของจำเลยเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดได้มีมติให้กรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานอาเซี่ยนการ์เมนท์แต่งตั้งทั้ง 6 คนพ้นจากตำแหน่งแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้างจำเลยไม่ต้องขออนุญาตศาลแรงงานเพื่อเลิกจ้างโจทก์นั้นเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share