คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน อยู่ในแนวเขตที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบการดำเนินการก่อสร้างให้แก่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนด แนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 มาตรา 4 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 64(2) และมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทน ตามข้อ 67 และข้อ 74ถึง 77 ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิมอบอำนาจให้ ก. ดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างทางหลวงเพื่ออนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีได้ เมื่อ โจทก์เห็นว่าที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ และถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย กรณีฟ้องเรียกเอาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่มี กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่ใช่คดีฟ้อง บังคับตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่อยู่ในบังคับที่ไม่ให้สืบพยาน บุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินในสัญญาซื้อขาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 44519และ 44520 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 43 และ 40 ตารางวา ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโดยที่ซื้อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2523 เป็นเงิน 830,000 บาทต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ประกาศใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือจำเลยที่ 2 โดยตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตทางหลวงเทศบาลที่ว่านี้ และในวันที่ 15 มีนาคม 2528จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองแปลงตารางวาละ 1,800 บาท รวมเป็นเงิน 149,400 บาท สิ่งปลูกสร้าง 35,620 บาท และพืชผล 2,196 บาท โดยได้แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนแต่โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงไม่ยอมรับ และในวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ว่าการของจำเลยที่ 3นำเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่ว่านั้นไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้แล้ว เป็นค่าทดแทนบางส่วน โจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าทดแทนเท่าราคาซื้อจำนวน 830,000 บาทค่าถมดินและปรับพื้นที่ 36,520 บาท ค่าทดแทนพืชผล 2,196 บาทแต่โจทก์ได้รับไปแล้วบางส่วน คงเหลือค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสี่จำนวน 684,155.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2524 จนถึงวันฟ้องจำนวน222,208.07 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 906,363.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 906,363.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีหน้าที่และไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 4 เพียงแต่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงคณะกรรมการปรองดองได้พิจารณากำหนดให้ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประกอบด้วยราคาตามพระราชกำหนดเปลี่ยนแปลงราคาปานกลางที่ดินที่กำหนดไว้สำหรับประเมินภาษีบำรุงท้องที่ โดยราคาใดสูงกว่าก็ให้ใช้ราคานั้นในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับนับเป็นค่าทดแทนที่เหมาะสมและยุติธรรมแล้ว ทั้งโจทก์ไม่เคยแสดงหลักฐานการซื้อที่ดินดังกล่าวต่อคณะกรรมการปรองดองตอนประชุมพิจารณาค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนเงิน 390,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 680,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 หรือไม่นั้น จำเลยที่ 1ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโลเขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนง แขวงสามเสนใน เขตพญาไทแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง แขวงลาดยาว เขตบางเขน แขวงบางซื่อเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526 ไม่ได้เวนคืนที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ นอกจากนี้ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 บัญญัติให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร อันเป็นท้องที่ที่ดินของโจทก์ตั้งรวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีอำนาจกระทำได้ในลักษณะเป็นตัวการเองไม่ต้องอาศัยการมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันกระทำตามอำนาจหน้าที่ของตน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลฎีกาเห็นว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบอำนาจดำเนินการก่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ให้แก่จำเลยที่ 1 และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 มาตรา 4 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวอีกด้วยดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1และในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิมอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการสำหรับออกแบบและก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวเพื่ออนุวัตตามมติคณะรัฐมนตรีตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.3 ได้ จึงถือได้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำการสร้างถนนผ่านที่ดินของโจทก์จำนวน 83 ตารางวา โดยที่ดินของโจทก์อยู่ในแนวเขตที่จะถูกเวนคืนปรากฏตามสำเนาสรุปรายการประเมินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตทางและสำเนาแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.9 และ ล.10 ดังนั้นแม้ว่าตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโล เขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง แขวงลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526 จะไม่ได้กำหนดท้องที่แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวาไว้ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกสร้างเป็นทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ช่วงถนนนางลิ้นจี่ถึงถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วมิใช่ถูกสร้างเป็นทางด่วนพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ที่ดินของโจทก์จึงมิได้ถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 กำหนดยังไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามส่วนที่ควรจะได้รับ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้เพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ ตามข้อ 67 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 เรื่องทางหลวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย เห็นว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 เอกสารหมาย ล.12 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาก็มีผลทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 64(2) และมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนตามข้อ 67 และข้อ 74 ถึงข้อ 77 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทในการจ่ายค่าทดแทน หากจำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดค่าทดแทนไม่ถูกต้องก็ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นที่ว่า ค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ตลอดวันจนวันเริ่มต้นให้ชำระดอกเบี้ยชอบแล้ว หรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์นำสืบได้ความชัดว่าบริษัทเจ้าพระยานิเวศน์จำกัด กับบริษัททองคำก่อสร้าง จำกัด ร่วมกันจัดสรรที่ดินขายชื่อหมู่บ้านลิ้นจี่ โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองโฉนดจากบริษัทเจ้าพระยานิเวศน์ จำกัด โดยภรรยาโจทก์ทำสัญญาจองกับบริษัททองคำ จำกัด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2523 ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท ชำระในวันจอง 80,000 บาท ตามหนังสือจองใบเสร็จชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 เหลืออีก 750,000 บาทจ่ายเป็นเช็คตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แล้วผู้ขายได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 4 กันยายน2523 ในราคา 530,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมโอนน้อยลง โดยโจทก์มีตัวโจทก์ นางวิไลรัตน์ ตุลภรณ์ภรรยาโจทก์และนายวิวัฒน์ กนกวัฒนาวรรณซึ่งเคยทำงานอยู่ที่บริษัทเจ้าพระยานิเวศน์ จำกัด มาเบิกความยืนยันประกอบเอกสารดังกล่าว คดีนี้เป็นคดีที่ฟ้องเรียกเอาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่ใช่คดีฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่อยู่ในบังคับที่ไม่ให้สืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 เพราะเป็นการนำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงให้ประจักษ์เพื่อให้เป็นหลักในการกำหนดราคาทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายเสถียร สหชัยเสรี ผู้ซื้อที่ดินในหมู่บ้านเดียวกับที่ดินพิพาทเบิกความว่า พยานได้ซื้อที่ดินตารางวาละ 10,000 บาท แต่จดทะเบียนซื้อขายราคาเพียง 6,500 บาทเพื่อผู้ขายจะได้เสียค่าธรรมเนียมการโอนน้อยลง ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับกรณีของโจทก์สนับสนุนให้เห็นได้ว่าที่ดินพิพาทมีราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับตารางวาละ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ที่ 2 กำหนดราคาให้ตารางวาละ 1,800 บาท รวมเป็นเงิน 149,400 บาท ตามราคาประเมินในเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งคณะกรรมการปรองดองกำหนดนั้นต่ำเกินไป ซึ่งนายเอก บุญเกิดพยานจำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ราคาประเมินในเอกสารหมาย ล.6 คณะกรรมการกำหนดโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพที่ดินที่เป็นจริงว่าจะเป็นอยู่อย่างไร การกำหนดราคาประเมินของคณะกรรมการปรองดองจึงไม่เป็นธรรมไม่สอดคล้องกับสภาพและราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดซึ่งโจทก์เพิ่งซื้อมาก่อนจะถูกเวนคืนไม่นานและไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76(2) พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาค่าทดแทนให้ตารางวาละ 10,000 บาท นั้น ชอบแล้ว เพิ่มแก่โจทก์จำนวน680,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่20 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ประกาศใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ใช้ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันวางเงินจำนวน 188,116 บาท ไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลางนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 ชำระตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จและให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share