คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยมาเหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยแล้วหรือไม่ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ที่บัญญัติให้ศาลลงโทษ จำเลยตามสภาพความผิด ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91, 300 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 59
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 157 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 59 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 สำหรับความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสนั้น เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 3 เดือน และความผิดฐานใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียน ลงโทษปรับ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำรถจักรยานยนต์ที่ยังมิได้จดทะเบียนมาใช้แล้วเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กาฬสินธุ์ ข – 9160 ที่นายภูหรือพู บุญโชติ ผู้เสียหายขับ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ โจทก์มีนายภูหรือพู บุญโชติ ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์จะพ้นสี่แยกก็ถูกรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับมาพุ่งเข้าชนตรงแฮนด์รถด้านขวา จนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและ ผู้เสียหายสลบไป กับมีร้อยตำรวจโทกมลรัตน์ พาน้อย พนักงานสอบสวนเบิกความว่ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายบริเวณล้อหน้า ส่วนรถจักรยานยนต์ของจำเลยได้รับความเสียหายด้านหน้าข้างซ้าย เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยนำสืบว่า รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของจำเลยบริเวณตะเกียบรถด้านซ้ายนั้นขัดกับสภาพของรถจักรยานยนต์ของจำเลยหลังเกิดเหตุที่ได้รับความเสียหายด้านหน้า และมิได้ล้มลงตรงบริเวณจุดเกิดเหตุ ที่จำเลยฎีกาว่าบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุมีป้ายจราจรว่าหยุดทั้งสี่ด้านผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ผ่านสี่แยกโดยไม่หยุดรอก่อนเป็นความประมาทของผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทกมลรัตน์ว่า ถนนทั้ง 2 สาย ตรงที่เกิดเหตุเป็นทางเอกทั้งคู่ ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ผ่านสี่แยกก่อน จำเลยซึ่งมาถึงที่หลังจึงต้องเป็นฝ่ายหยุดรถให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับมาผ่านไปก่อน การที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ผ่านสี่แยกโดยไม่หยุดรอก่อนแล้วเกิดเหตุขึ้น จึงหาเป็นการกระทำโดยประมาทไม่ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ศาลฎีกาเชื่อว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่รถที่จำเลยขับขี่เป็นเพียงรถจักรยานยนต์ สภาพความผิดที่จำเลยกระทำไม่ร้ายแรงนัก ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยประพฤติตนเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วย มาตรา 215 และ 225 แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสให้ลงโทษปรับ 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตาม ป.อ. มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share