คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเข้าไปอยู่ในห้องของเขา แม้ในชั้นต้นจะมิใช่เป็นการละเมิด แต่เมื่อเจ้าของเขาไม่ประสงค์จะให้อาศัยอยู่ต่อไป และบอกให้ออกไปแล้ว ยังขืนอยู่ดังนี้ ย่อมเป็นการละเมิดต่อเจ้าของ
เจ้าของห้องทำสัญญาให้ผู้เช่า เช่าห้องไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามีคนอื่นเข้าอาศัยอยู่ในห้องนั้น เจ้าของบอกให้ออกไปจากห้อง ผู้นั้นก็ไม่ยอมออก ดังนี้ ย่อมถือว่าผู้นั้นละเมิด และเป็นเหตุให้เจ้าของส่งมอบห้องให้ผู้เช่าไม่ได้ เจ้าของห้องมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้นั้นได้

ย่อยาว

ได้ความว่า ตึกพิพาทเป็นของโจทก์ เดิมมีนายมีฟูเป็นผู้เช่าครั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2491 นายมีฟูมอบตึกนี้ให้นางข้องครอบครองและในเดือนนั้นเองนางข้องให้นางถนอมเข้ามาอยู่อาศัย ต่อมานางถนอมได้พาเอาจำเลยเข้ามาอยู่ด้วย นางข้องไม่พอใจจำเลย นางข้องจึงออกจากห้องไปอยู่ที่อื่น ครั้นวันที่ 1 มกราคม 2492 นายมีฟูโอนสิทธิการเช่าให้แก่นางข้อง ๆ ได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์โดยตรงและชำระค่าเช่าให้โจทก์ตลอดมา แต่จำเลยไม่ยอมออกจากตึกรายนี้เป็นเหตุให้โจทก์ส่งมอบตึกให้นางข้องไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลย และบริวารออกจากตึกพิพาท

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยได้เข้ามาอยู่โดยความยินยอมของผู้รับสิทธิจากโจทก์ จึงไม่เป็นการละเมิดนั้น ได้ความว่านางข้องผู้เช่าได้ให้นางถนอมอาศัย นางถนอมพาจำเลยเข้ามาอยู่ด้วยหาใช่นางข้องเป็นผู้ให้จำเลยอยู่ไม่ อย่างไรก็ดี แม้ในชั้นต้นจะมิใช่เป็นการละเมิด แต่เมื่อเจ้าของไม่ประสงค์จะให้อาศัยอยู่ต่อไปและบอกให้จำเลยออกแล้ว จำเลยยังขืนอยู่ จึงเป็นการละเมิด โจทก์ผู้เป็นเจ้าของห้องย่อมมีอำนาจฟ้องได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share