แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 17,237,744.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินเบี้ยปรับสำหรับเครื่องทดสอบ นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2546 โดยหักออก 30 วัน ที่จำเลยลดหย่อนให้โจทก์คงเหลือ 226 วัน วันละ 47,443.80 บาท เป็นเงิน 10,722,294.80 บาท ส่วนเบี้ยปรับสำหรับอาคารนับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 รวม 143 วัน วันละ 2,337 บาท เป็นเงิน 334,191 บาท รวมเป็นเงิน 11,056,485.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าปรับให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มิได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับด้วยความสมัครใจนั้น เห็นว่า ตามหนังสือซึ่งโจทก์มีถึงจำเลยแจ้งว่าโจทก์รับทราบหนังสือ ที่ระบุว่าลดค่าปรับให้โจทก์เหลือ 17,826,678.60 บาท และโจทก์ยินยอมให้ปรับตามความในหนังสือดังกล่าว ขอให้จำเลยกำหนดเวลารับเงินคงเหลือจากการปรับให้โจทก์ทราบด้วย และจำเลยมีหนังสือแจ้งว่า มีการเบิกจ่ายเงินให้โจทก์ภายใน 2 สัปดาห์นับแต่วันรับหนังสือ จึงฟังได้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยปรับตามที่ลดค่าปรับให้ดังกล่าว โดยจำเลยได้พิจารณาถึงเหตุตามที่โจทก์อ้างขอลดค่าปรับแล้วคงลดค่าปรับให้เหลือจำนวนดังกล่าว ถ้าหากโจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์ต้องโต้แย้งและขอสงวนสิทธิในการรับชำระหนี้ไว้ การที่โจทก์มีหนังสือยินยอมดังกล่าวเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าเหตุผลของจำเลยที่ลดให้ดังกล่าวถูกต้องแล้วจะอ้างว่ามิได้เป็นความสมัครใจ เพราะหากไม่ยินยอมทำให้โจทก์ไม่ได้เงินทั้งที่ลงทุนไปแล้ว โจทก์ไม่สามารถขอกู้เงินจากธนาคารใด ๆ ได้เพราะติดบัญชีดำ ไม่มีความน่าเชื่อถือทางการเงิน และหากไม่ได้ส่งมอบงานที่ค้าง จำเลยนำไปให้ผู้อื่นประมูลทำต่อไป โจทก์ต้องรับผิดชอบในราคาที่สูงขึ้นนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์พิจารณาแล้วว่าจะตัดสินใจเช่นใดก่อนจะมีหนังสือดังกล่าว เพราะข้ออ้างเช่นว่านั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไปในการเข้าทำสัญญาอยู่แล้ว หาเป็นกรณีผิดปกติหรือต่างจากการทำสัญญาเช่นนี้แต่อย่างใดไม่ อีกทั้งการปรับตามสัญญาของจำเลย โจทก์ยังคงได้รับเงินที่เหลือจากการปรับ ยังไม่ถึงกับไม่ได้รับเงิน และโจทก์มิได้ทิ้งงานหรือถูกจำเลยบอกเลิกสัญญา แล้วนำงานที่ค้างอยู่ไปให้ผู้อื่นประมูลทำต่อไปแต่อย่างใด อันจะทำให้มีผลกระทบทางด้านการขอสินเชื่อจากธนาคาร แต่ถึงแม้ว่าจะมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก็มาจากผลการกระทำของโจทก์เองในการทำงานตามสัญญา ดังนั้น เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์เรื่องอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ