คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฎีกาทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ จำเลยจะขอถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีในศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยไม่ได้ เมื่อฎีกาของจำเลยตามที่บรรยายมาไม่เพียงพอที่จะให้เข้าใจ ข้ออ้างของจำเลยได้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุใด ประกอบกับจำเลยมิได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 65, 67, 70 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 40 วรรคแรก, 65 วรรคแรก,67 ประกอบมาตรา 70 ลงโทษฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ปรับวันละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 23มกราคม 2531 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เป็นเงิน 870,000 บาทรวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 910,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 606,666.66 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เทศบาลได้ตรวจและแจ้งว่าก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อจำเลยไปติดต่อเทศบาลก็ได้รับแจ้งให้ไปขอใบอนุญาตใหม่ จำเลยจึงไปยื่นเรื่องราวขอก่อสร้าง โดยใช้แบบแปลนเก่าและเทศบาลได้อนุญาตแล้วตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.3
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในประการแรกว่า ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้แถลงการณ์ปิดคดีโดยขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยขอถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225จำเลยจะขอถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีในศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยไม่ได้ และตามที่จำเลยบรรยายมาในฎีกาของจำเลยไม่เพียงพอที่จะให้เข้าใจได้ว่าจำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุใด ทั้งไม่ได้คัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2ที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดดังฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายบุญญฤทธิ์ บุญมี นายตรวจ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 นายบุญญฤทธิ์ได้ไปตรวจบริเวณที่เกิดเหตุ พบว่ามีการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีการขุดหลุมและเทตอหม้อรวม 2 ต้น และโจทก์มีนางศิริมล สิทธิสาร หัวหน้างานสถาปัตยกรรมเป็นพยานเบิกความประกอบคำเบิกความของนายบุญญฤทธิ์ว่า นางศิริมลได้รับรายงานเรื่องการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวจากนายบุญญฤทธิ์ นางศิริมลได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าอาคารที่เกิดเหตุเป็นของจำเลย กับโจทก์มีนายสัญชัย โอสถาพันธ์ เทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นพยานเบิกความว่า นายสัญชัย ซึ่งทำการแทนนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยได้รับแจ้งแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2531 ดังปรากฏตามคำสั่งและใบตอบรับทางไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 นอกจากนี้นายบุญญฤทธิ์พยานโจทก์ยังเบิกความยืนยันด้วยว่า เมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้รับแจ้งคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้ว นายบุญญฤทธิ์ได้ไปตรวจอาคารที่เกิดเหตุพบว่ายังมีการก่อสร้างเพิ่มเติมคือตั้งเสาอาคารทั้งหมดดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.5 พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความดังนี้ ส่วนที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างว่าจำเลยเคยได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นว่า ตามใบอนุญาตดังกล่าวซึ่งลงวันที่ 25 มีนาคม 2528 มีข้อความระบุชัดว่าใบอนุญาตนั้นให้มีกำหนดใช้ได้เพียงวันที่ 25 มีนาคม 2529 และจำเลยเองก็เบิกความรับว่า เมื่อปลายปี 2530 อันเป็นวันเวลาที่ใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.1 สิ้นผลใช้บังคับแล้ว จำเลยได้ทำการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุจริงอันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ที่ว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อจำเลยได้รับแจ้งคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2531จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 รวมเป็นเวลา 10 วัน จำเลยได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้าง โดยยังคงทำการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุต่อมาจริง แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างต่อไปจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 อันเป็นวันเวลาที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.3 นั้น เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นยืนยันว่าหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 จนถึงก่อนเวลาที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2531จำเลยได้ทำการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าเมื่อระหว่างภายหลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม2531 จำเลยได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารดังฟ้อง สรุปข้อวินิจฉัยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่พิพากษาให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างนับแต่วันที่ 23 มกราคม 2531 ถึงวันที่14 กรกฎาคม 2531 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเพียงบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างให้ปรับวันละ 5,000 บาท รวม 10 วัน เป็นเงิน 50,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงให้ปรับ 33,333.1/3 บาทเมื่อรวมกับโทษปรับฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ปรับ 40,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงให้ปรับ 26,666.2/3 บาทแล้ว เป็นให้ปรับจำเลยรวม 60,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share