คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1566 บัญญัติให้บุตรผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาและให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย และยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร และมาตรา 1556 ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างเด็กเป็นผู้เยาว์ถ้าเด็กอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง เด็กหญิง ธ.ผู้เยาว์อายุได้ 11 เดือนเศษ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรจึงมีอำนาจฟ้องแทนได้ และมาตรา 1565 บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วยว่านอกจากอัยการจะฟ้องร้องแทนแล้ว ให้บิดาหรือมารดานำคดีขึ้นว่ากล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งให้รับผู้เยาว์เป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าฟ้องคดีในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์จึงชอบแล้ว และฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยรับผู้เยาว์เป็นบุตรไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะเป็นการฟ้องตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้โดยเฉพาะ
จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์และมีรายได้อื่นอีก ส่วนโจทก์ยังไม่มีอาชีพและรายได้ ผู้เยาว์จะต้องศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้นตามวัย ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ตามวัยอายุของผู้เยาว์เหมาะสมดีแล้ว เว้นแต่ที่กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตั้งแต่วันคลอดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาล มีผลนับแต่วันศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
เนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 (3) จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง ธ.เป็นบุตร ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 20บัญญัติว่า เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้

Share