แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 360 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 358 ได้ ส่วนกรณีตามมาตรา 360 ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 7 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำให้เสียหาย ทำลาย โดยใช้เท้าถีบโอ่งน้ำบรรจุน้ำให้ประชาชนดื่มแตก ๑ ใบราคา ๖๐ บาท และทำลายหลอดไฟนีออนแตก ๑ หลอดราคา ๔๐ บาท รวมราคา ๑๐๐ บาท ของจ่าสิบตำรวจสุริยะซึ่งอยู่ที่ตู้ยามตำรวจห้วยหลัว อันเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๖๐
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๕๘ ส่วนความผิดตามมาตรา ๓๖๐ เกินอำนาจศาลแขวง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๕๘ (ศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษายกฟ้องในความผิดตามมาตรา ๓๖๐)
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๖๐ ด้วย และจำเลยรับสารภาพแล้ว ศาลลงโทษแต่ตามมาตรา ๓๕๘ จึงไม่ชอบ ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องแล้วให้โจทก์ทำคำฟ้องเป็นหนังสือ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยด้วยวาจาในข้อทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ และมาตรา ๓๖๐ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๕๘ เพราะโจทก์ได้มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ด้วย ส่วนมาตรา ๓๖๐ เมื่อกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๓ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ชอบที่จะยกฟ้องในส่วนนี้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๑ และเมื่อศาลได้พิพากษาในปัญหาข้อนี้แล้วก็ไม่ชอบที่จะให้โจทก์ทำคำฟ้องมาเป็นหนังสือดังโจทก์ฎีกา
พิพากษายืน.