แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้มาระวังแนวเขตที่ดินและลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินไว้ในใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียง อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ แต่อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลย แม้โจทก์จะเป็นของที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าโจทก์สละกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่มีมาก่อนย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28162 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา โดยที่ดินของจำเลยอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโจทก์ ในปี 2538 จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยออกเป็น 9 แปลง ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ขาดหายไป 50 ตารางวา เจ้าหน้าที่รังวัดตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 ของจำเลยซึ่งได้แบ่งแยกดังกล่าวแต่เมื่อรวมที่ดินทั้งหมดแล้วมีเนื้อที่ดินเกินกว่าเนื้อที่ดินที่ปรากฏในโฉนดจำนวน 50 ตารางวา โจทก์แจ้งจำเลยว่าได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ให้จำเลยแก้ไขแนวเขตใหม่ให้ตรงกับจำนวนเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตและแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 4162 ของจำเลย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2538 และให้จำเลยทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินคืนโจทก์เป็นเนื้อที่ 50 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา ตามฟ้อง ซึ่งมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นประมาณ 50 ตารางวา จริง แต่ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เหตุที่มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเนื้องจากเดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4161 ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินทางทิศใต้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 29755 แล้วจำเลยได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4161 ด้านทิศเหนือที่ติดคลองบางคูเวียงให้แก่นายจำลอง พี่ชายโจทก์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 ที่ด้านทิศเหนือติดคลองบางคูเวียง เช่นกัน ซึ่งนางยิ้ม มารดาโจทก์และนายจำลองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย ดังนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 ที่เพิ่มขึ้นจึงมิได้มาโดยการรุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง เมื่อประมาณปี 2530 จำเลยและนางยิ้มมารดาโจทก์ได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 ซึ่งนางยิ้มได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินของจำเลยมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ถูกต้องหรือรุกล้ำที่ดินของโจทก์ และนางยิ้มยังได้ลงลายมือชื่อในใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงและในแผนที่ที่มีการแบ่งแยกรังวัดใหม่ ตลอดจนบันทึกถ้อยคำแก้เนื้อที่รายละเอียดอีกด้วย ต่อจากนั้นจำเลยได้ครอบครองที่ดินในที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามฟ้องโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้นในโฉนดที่ดินเลขที่ 4162 ดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28162 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.27 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4162 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ที่ดินของจำเลยอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ มีลักษณะเป็นแนวยาวขนานกัน ในปี 2538 จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลย ปรากฏว่าที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่เพิ่มขึ้น ต่อมาโจทก์รังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ปรากฏว่าเนื้อที่ขาดหายไปบางส่วน โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.28 และ ล.29 คิดเป็นเนื้อที่ 48 ตารางวา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยในปี 2538 นั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้มาระวังแนวเขตที่ดินและลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินไว้ด้วยตามใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงเอกสารหมาย ล.22 อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์แต่อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลย แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าโจทก์สละกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วและการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่มีมาก่อนย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของจำเลยว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปกปักษ์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ