แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทยที่ ๑ เทศบาลตำบลผาอินทร์แปลง ที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยผู้ฟ้องคดีดำเนินการแจ้งสิทธิการทำประโยชน์แล้ว แต่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ ต่อมาเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จงใจบุกรุกเข้ารื้อถอนรั้วกั้นแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี และรื้อถอนทำลายต้นไม้บริเวณคันคูดินในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยมิได้รับอนุญาตและมิได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี รวมทั้งสั่งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าเกี่ยวข้องหรือปิดกั้นที่ดินบริเวณดังกล่าวอันเป็นการกระทำละเมิด ต่อมาศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งเรียกกรมการปกครองและนายอำเภอเอราวัณ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เข้ามาเป็นคู่กรณี โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ตามลำดับ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จงใจบุกรุกเข้ารื้อถอนรั้วกั้นแนวเขตที่ดิน และรื้อถอนทำลายต้นไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณคันคูดินในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยมิได้รับอนุญาตและมิได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดมาด้วยก็ตาม แต่การที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวและรบกวนการครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีอันแสดงถึงความมุ่งหมายที่จะให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นทางสาธารณะ จึงจะวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับการกระทำละเมิดระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม