คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เยาว์ ลงชื่อแต่งทนายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและอุทธรณ์ฎีกา มาโดยลำพังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินคดีแทน อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ร่วม ย่อมเป็นอุทธรณ์และฎีกาที่ไม่ชอบ
คำแจ้งความที่เพียงแต่แจ้งให้พนักงานตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐานมิได้ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลย ย่อมไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย
คำให้การของผู้เสียหายที่พนักงานสอบสวนได้จดบันทึกไว้ในตอนท้ายมีข้อความว่า “ในวันนี้ทางข้าฯ และมารดาข้าฯ จึงมาร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวน สน.พญาไทดำเนินคดีกับนายเอสวูดดี้ในข้อหากระทำอนาจาร ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1(7), 123 แล้ว
เมื่อผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาและบิดายังมีชีวิตอยู่มารดาของผู้เยาว์จึงไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ จึงไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์แทนผู้เยาว์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กหญิงวารินทร์ภู่รัตน์ อายุ 14 ปี ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์มอบคดีแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278

จำเลยให้การปฏิเสธ

นางวิลัย ภู่รัตน์ มารดาเด็กหญิงวารินทร์ และเด็กหญิงวารินทร์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เด็กหญิงวารินทร์เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เมื่อตัวผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมเองแล้ว นางวิลัยมารดาจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนอีก ยกคำร้องเฉพาะของนางวิลัย

ต่อมานางวิลัยยื่นคำร้องว่า เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปขอถอนคำร้องทุกข์โจทก์แถลงคัดค้านว่านางวิลัยไม่ได้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ ศาลต้องสอบถามตัวเด็กหญิงวารินทร์ตัวเจ้าทุกข์ก่อน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นางวิลัยเป็นผู้ดำเนินการร้องทุกข์มาแต่ชั้นสอบสวน แม้เด็กหญิงวารินทร์จะได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเอง นางวิลัยก็ชอบที่จะถอนคำร้องทุกข์ได้ จึงอนุญาตให้นางวิลัยถอนคำร้องทุกข์จำหน่ายคดี

โจทก์และเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า นางวิลัยไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เด็กหญิงวารินทร์เป็นผู้เยาว์ ลงชื่อแต่งทนายเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและอุทธรณ์มาแต่ลำพังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินคดีแทน จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ ทั้งกรณีไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อบกพร่องเสียให้บริบูรณ์ก่อน จึงให้ยกอุทธรณ์ของเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วมปรากฏตามคำให้การของเด็กหญิงวารินทร์และพยานหลักฐานที่ให้ศาลชั้นต้นสืบเพิ่มเติมว่าเด็กหญิงวารินทร์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายม้วน บิดายังมีชีวิตอยู่นายม้วนบิดาจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 และ 1541 นางวิลัยจึงไม่ใช่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ จึงไม่มีอำนาจจัดการใด ๆ รวมทั้งถอนคำร้องทุกข์แทนเด็กหญิงวารินทร์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(1) คำแจ้งความของเด็กหญิงวารินทร์ครั้งแรก ไม่ใช่คำร้องทุกข์นางวิลัยได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจึงต้องถือว่านางวิลัยผู้เดียวเป็นผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ แต่เมื่อนางวิลัยมิใช่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ การร้องทุกข์จึงไม่ชอบการดำเนินการสอบสวนต่อมาจึงไม่ชอบไปด้วย ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมเสียได้ พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมแต่มีความเห็นแย้งว่า ข้อความท้ายคำให้การของเด็กหญิงวารินทร์ชั้นสอบสวนถือได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย นางวิลัยมารดาซึ่งมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ควรพิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป

โจทก์และเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วมฎีกาต่อมาว่า คำแจ้งความของเด็กหญิงวารินทร์ในครั้งแรกและข้อความที่พนักงานสอบสวนจดไว้ในตอนหลังเป็นคำร้องทุกข์ นางวิลัยมารดามิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ จึงไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ โจทก์ร่วมมีสิทธิแต่งทนายได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะฎีกาของเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วมปรากฏว่าเด็กหญิงวารินทร์มีอายุเพียง 14 ปี เป็นผู้เยาว์ได้ลงชื่อแต่งทนายเพื่อให้ทนายดำเนินกระบวนพิจารณาแต่ลำพังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินคดีแทนเป็นการขัดด้วยมาตรา 5(1) และมาตรา 6ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฎีกาของเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วมจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ และในชั้นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีกรณีจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้เด็กหญิงวารินทร์แก้ไขข้อบกพร่องให้บริบูรณ์เสียก่อน เพราะผู้ว่าคดีโจทก์ได้ฎีกาในปัญหาอย่างเดียวกันกับฎีกาของเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วมอยู่แล้ว จึงให้ยกฎีกาของเด็กหญิงวารินทร์โจทก์ร่วม ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของผู้ว่าคดีโจทก์ต่อไป

ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า วันที่ 27 ธันวาคม 2512 เวลา 9.30 นาฬิกา เด็กหญิงวารินทร์ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจพญาไทว่า นายเอสวู๊ดดี้ สปอนนอกเกิลมักจะแสดงกิริยาลามกอนาจารต่อผู้แจ้งเสมอ อันทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้แจ้ง จึงนำความมาแจ้งให้ตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2513 นางวิลัยมารดาเด็กหญิงวารินทร์พร้อมด้วยเด็กหญิงวารินทร์ได้ไปที่สถานีตำรวจพญาไทอีกครั้งหนึ่ง นางวิลัยได้ทำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายเอสวู๊ดดี้ สปอนนอกเกิล ได้กระทำอนาจารเด็กหญิงวารินทร์ ภู่รัตน์ บุตรสาวผู้แจ้ง โดยจับแขนกอดจับนมเด็กหญิงวารินทร์ในที่ทำงาน จึงขอร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายเอสวู๊ดดี้ สปอนนอกเกิล จนถึงที่สุดและในวันเดียวกันนี้เอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจพญาไทได้บันทึกคำให้การของเด็กหญิงวารินทร์ในรายละเอียดของการกระทำของนายเอสวู๊ดดี้ สปอนนอกเกิล ในตอนท้ายคำให้การมีข้อความว่า”ในวันที่ (28 มกราคม 2513) ทางข้าฯ และมารดาข้าฯ จึงมาร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ดำเนินคดีกับนายเอสวู๊ดดี้ในข้อหากระทำอนาจารข้าฯ”

อนึ่ง ได้ความว่า นางวิลัย ภู่รัตน์ ได้จดทะเบียนสมรสกับนายม้วนภู่รัตน์ ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2508 จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2513 นายม้วน ภู่รัตน์ ยังมีชีวิตอยู่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำแจ้งความของเด็กหญิงวารินทร์ในตอนแรกนั้น เพียงแต่แจ้งให้พนักงานตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐาน มิได้ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลย จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย แต่ตามคำให้การของเด็กหญิงวารินทร์ที่พนักงานสอบสวนบันทึกรายละเอียดแห่งการกระทำของจำเลยไว้ และในตอนท้ายของคำให้การมีข้อความว่าได้มาร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ดำเนินคดีกับนายเอสวู๊ดดี้ ในข้อหากระทำอนาจารต่อผู้เสียหาย และได้ความว่าเด็กหญิงวารินทร์ผู้เสียหายอายุ 14 ปี มีความรู้สึกผิดชอบดีแล้วได้ไปร้องทุกข์กับนางวิลัยมารดาของเด็กหญิงวารินทร์นั้น จึงถือได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เพราะมีรายละเอียดครบถ้วนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7), 123 และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2100/2497 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ นายปรีชา นุยงค์ภักดี กับพวก จำเลย

ส่วนในปัญหาว่า นางวิลัยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือไม่ และมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์แทนเด็กหญิงวารินทร์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า นางวิลัยมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ และไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์แทนเด็กหญิงวารินทร์จึงไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้อีก

ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้ว จึงเห็นได้ว่าเด็กหญิงวารินทร์ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและการดำเนินคดีต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมายนางวิลัย ภู่รัตน์ซึ่งมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงวารินทร์ ไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์แทนเด็กหญิงวารินทร์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

พิพากษาให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป โดยให้แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับความสามารถของเด็กหญิงวารินทร์ ภู่รัตน์ ผู้เยาว์ในการเข้าเป็นโจทก์ร่วมให้บริบูรณ์เสียก่อน

Share