คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้นนอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว และย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้ว ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินในขณะกระทำความผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดซึ่งคดีนี้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่า จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่จึงฟังไม่ได้ว่า จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์กระบะของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง 4141 ตรัง ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้คืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้คืนรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บง 4141 ตรัง ของกลาง แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมนางจุฬา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง 4141 ตรัง ของกลาง และให้นายเสถียร บิดาจำเลยเช่าซื้อต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2546 จำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดในคดีนี้ นางจุฬามอบอำนาจให้นายเรวัติ ไปขอรับรถยนต์กระบะของกลางมาเก็บรักษาไว้ในระหว่างพิจารณาคดี วันที่ 15 ตุลาคม 2546 นายธีรวัฒน์สามีของนางจุฬาขายรถยนต์กระบะของกลางให้แก่นายนิมิตร จากนั้นนางจุฬาขายรถยนต์กระบะของกลางให้ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลาง ครั้นวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 ผู้ร้องให้นายนิมิตรเช่าซื้อรถยนต์กระบะของกลาง ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอคืนรถยนต์กระบะของกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้น นอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวและย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้ว ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินในขณะกระทำความผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดด้วย คดีนี้ผู้ร้องมีนายสุภภูมิ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้ร้อง เบิกความเป็นพยานสรุปความได้ว่า เดิมรถยนต์กระบะของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของนางจุฬา ต่อมานายธีรวัฒน์สามีนางจุฬาขายรถยนต์กระบะของกลางให้นายนิมิตรโดยนายนิมิตรชำระเงินดาวน์ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับผู้ร้อง ผู้ร้องจึงซื้อรถยนต์กระบะของกลางจากนางจุฬา และนายนิมิตรทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะของกลางกับผู้ร้อง ต่อมานายนิมิตรผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่านางจุฬาเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แม้พันตำรวจโทปรีชา พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ จะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้องว่า นางจุฬาไม่มีส่วนรู้เห็นหรือส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลยดังที่ผู้ร้องฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่พันตำรวจโทปรีชาตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้อง ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จะรับฟังว่านางจุฬาไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยไม่ได้ เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่า นางจุฬาเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share