คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประเด็นว่า เตา อบ และน้ำยาฆ่าแมลงที่จำเลยครอบครองเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ตามป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง หรือไม่นั้น เมื่อโจทก์มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดตามมาตราดังกล่าวไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันวินาศภัยสินค้าของบริษัทดูปองฟาร์อีส จำกัด ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่โรงงานของจำเลย เมื่อวันที่12 เมษายน 2523 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงงานดังกล่าวด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือลูกจ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของบริษัทดูปองฟาร์อีสเสียหายทั้งสิ้น 875,014.11 บาท โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทดูปองฟาร์อีสไปแล้วได้ทวงถามจากจำเลย จำเลยเพิกเฉยโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 915,200.63 บาทขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 875,014.11 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้รับประกันวินาศภัยสินค้าของบริษัทดูปองฟาร์อีสจำเลยหรือลูกจ้างมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไปฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์เสียค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยหนึ่งพันบาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความเพียงว่าเหตุที่เพลิงไหม้เกิดขึ้นเนื่องจากมีไฟแลบมาจากภายในเครื่องอบกระป๋องยาฆ่าแมลง หัวหน้าคนงานปัดสวิตช์สะพานใหม่แล้วคนงานได้ใช้เครื่องดับเพลิงฉีดน้ำยาเคมีเข้าไปจึงเกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ขึ้น ร้อยตำรวจเอกสุทธิพงษ์ รามัญวงศ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความว่า จากการสอบสวนพยานหลักฐานและจากการประมวลความเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจได้ความว่า เหตุที่เพลิงไหม้มิใช่เนื่องมาจากการวางเพลิงหรือจากการกระทำโดยประมาทของผู้หนึ่งผู้ใดหากแต่เป็นอุบัติเหตุเกิดจากสิ่งสุดวิสัย พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเหตุที่เพลิงไหม้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือลูกจ้างของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทดูปองฟาร์อีสจำกัด เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้ ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทดูปองฟาร์อีส จำกัด ไปตามสัญญาประกันภัยโจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัทดูปองฟาร์อีส จำกัด เรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์โดยอ้างมูลละเมิด
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยครอบครองเตาอบและน้ำยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีอันตรายโดยสภาพหรือโดยการใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุสุดวิสัยจำเลยต้องรับผิดนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์มิได้กล่าวอ้าง หรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง ทั้งข้อเท็จจริงในทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่า เครื่องอบกระป๋องในโรงงานของจำเลยเป็นทรัพย์ที่อาจจะเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์สิน คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ดังกล่าวและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่เพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือลูกจ้างของจำเลย ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์มิได้รับประกันวินาศภัยสินค้าวัตถุดิบของยาฆ่าแมลงและยาฆ่าแมลงจากบริษัทดูปองฟาร์อีส จำกัด และฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลย 1,000 บาท.

Share