คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ร่วมได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของธนาคาร กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตผิดระเบียบเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงินจนลูกค้าธนาคารโจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์ร่วมสูงกว่าหลักประกันถึงหกแสนบาทเศษ ดังนี้ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 แล้ว
เงินที่จำเลยอนุมัติให้เบิกจ่ายไปจากบัญชีกระแสรายวันของลูกค้าธนาคารโจทก์ร่วมเป็นเงินของธนาคารโจทก์ร่วม ธนาคารโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยและผู้เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องระบุว่าให้ร้องทุกข์กี่คดีและไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาการมอบอำนาจไว้
ฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยครอบครองทรัพย์และเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหาย โจทก์เพียงแต่อ้าง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาในคำขอท้ายฟ้องเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๖๙๗,๖๖๕.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาสหธนาคารผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา ๓๕๔ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๕ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวนตามฟ้องและดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๓ ทรัพย์ดังกล่าวจะต้องเป็นวัตถุมีรูปร่างที่จับต้องสัมผัสได้ ยอดเงินในบัญชีกระแสรายวันไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินตามบทมาตราดังกล่าว เห็นว่า การที่จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทกืร่วมในตำแหน่งผู้จัดการสาขาปราณบุรี แล้วกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ผิดระเบียบเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงินในบัญชีกระแสรายวันของนางนิภาจนยอดเงินที่นางนิภาเป็นหนี้โจทก์ร่วมตามบัญชีดังกล่าวสูงกว่าหลักประกันถึง ๖๕๙,๗๓๐.๒๔ บาท ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วม ตามความหมายของ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๓ แล้ว
ปัญหาโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า แม้เงินที่จำเลยอนุมัติให้เบิกจ่ายไปจะเบิกจ่ายจากบัญชีกระแสรายวันของนางสาวนิภา ก็เป็นเงินของโจทก์ร่วมที่จำเลยยอมให้มีการเบิกเกินบัญชีไปโดยผิดระเบียบเกินอำนาจที่จำเลยได้รับมอบหมาย หาใช่เงินฝากของนางสาวนิภาไม่ โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๑ ที่โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายวินิต บัณฑุรัตน์ ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๑ มีข้อความระบุว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินการร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาเอาผิดกับจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทางอาญาและในทุกกรณี เป็นการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าให้ผู้รับมอบอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยกี่คดี และไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาไว้หนังสือมอบอำนาจหมาย จ.๑ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แต่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยครอบครองทรัพย์และเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ โจทก์เพียงแต่อ้างบทมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดดังกล่าวด้วยเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๓๕๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share