คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14977/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ…” ซึ่งมาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ” ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งยึดติดอยู่บนคานปูนที่วางพาดระหว่างเสาไฟฟ้าแรงสูงสองต้น สูงจากพื้นประมาณ 8 เมตร เสาไฟฟ้าทั้งสองต้นหล่อด้วยปูนมีฐานติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินซึ่งลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้หม้อแปลงไฟฟ้าจะติดตั้งอยู่บนคานปูนมิได้ยึดติดกับพื้นดิน และสามารถเคลื่อนย้ายออกไปจากเสาไฟฟ้าได้ แต่โดยสภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้เป็นประจำอยู่กับเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการแปลงค่ากระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่โรงงานของโจทก์ ซึ่งในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยประเมินภาษี ก็ประเมินค่ารายปีของหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งย่อมรวมถึงเสาไฟฟ้าที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันด้วย ทั้งโจทก์เองก็ได้ให้ผู้เช่าเช่าใช้ประโยชน์จากหม้อแปลงและอุปกรณ์ดังกล่าวในอุตสาหกรรมของผู้เช่าโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าจากทรัพย์สินส่วนนี้ด้วย หม้อแปลงไฟฟ้าจึงเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งและยึดติดอยู่กับเสาไฟฟ้าซึ่งติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 6 (1) หม้อแปลงไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยกำหนดค่ารายปีในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าโดยนำค่าเช่าที่โจทก์ได้รับมาเป็นเกณฑ์จึงเป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แล้ว
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ตามมาตรา 13 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น” ตามภาพถ่ายอาคารชั่งน้ำหนัก ประกอบกับแปลนแสดงอาคารพร้อมเครื่องจักร แสดงให้เห็นสภาพโครงสร้างของเครื่องชั่งน้ำหนักว่า มีเครื่องชั่งน้ำหนักระบบคานชั่ง และระบบ LOAD CELL ติดตั้งลงไปใต้พื้นดินด้านข้างของห้องเครื่องชั่งทั้งสองด้าน ใต้คานชั่งน้ำหนักจะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักซึ่งเป็นเครื่องจักรกลและต่อเนื่องไปยังห้องเครื่องชั่ง ส่วนเครื่องจักรกลนั้นอยู่ใต้ดินและอยู่นอกอาคารเครื่องชั่งน้ำหนัก เมื่อมีรถบรรทุกผ่านเครื่องชั่งคอมพิวเตอร์จะทำงานและส่งข้อมูลน้ำหนักรถและวัตถุที่บรรทุกไปยังห้องเครื่องชั่งที่มีระบบบันทึกน้ำหนัก เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์จึงเป็นเครื่องจักรกลไกที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่ภายในอาคารเครื่องชั่งน้ำหนัก แต่ถูกติดตั้งลงใต้พื้นดินด้านข้างห้องเครื่องชั่ง และมิได้ยึดติดอยู่กับตัวห้องเครื่องชั่ง เครื่องชั่งน้ำหนักจึงไม่ใช่ส่วนควบของโรงเรือนที่เป็นห้องเครื่องชั่ง แต่สภาพของเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีระบบคานชั่งและระบบ LOAD CELL ติดตั้งลงใต้พื้นดินและติดตรึงถาวรกับพื้นดินจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามมาตรา 6 (1) เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์จึงไม่เป็นส่วนควบที่สำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมที่ติดตั้งขึ้นในโรงเรือนตามมาตรา 13 การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ไม่ลดค่ารายปีในทรัพย์สินรายการนี้ลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีจึงชอบแล้ว และจำเลยไม่ต้องคืนเงินภาษีแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดค่ารายปีและค่าภาษีของจำเลย ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระให้เกินไป 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 1 เลขที่ 1 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2554 โดยกำหนดค่ารายปีสำหรับเครื่องชั่งน้ำหนักรถ 40,000 บาท คำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 5,000 บาท ให้จำเลยคืนเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปจำนวน 10,000 บาท แก่โจทก์ ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการโม่และย่อยหินเพื่อจำหน่าย ตั้งอยู่เลขที่ 22 หมู่ที่ 1 ถนนมิตรภาพ ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2554 (ภ.ร.ด. 2) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย แสดงค่ารายปี 360,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 45,000 บาท ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีใบแจ้งรายการประเมินแก่โจทก์ว่ามีทรัพย์สินที่เป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ต้องเสียภาษี 4 รายการ คือ อาคารโรงซ่อม หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ ถังบรรจุน้ำมัน เครื่องชั่งน้ำหนักรถ เป็นค่ารายปี 840,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 105,000 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีสำหรับอาคารโรงซ่อมที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพียงรายการเดียว ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ ถังบรรจุน้ำมัน และเครื่องชั่งน้ำหนักรถ ไม่ลดค่ารายปีให้ นายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคลได้แจ้งคำชี้ขาดที่เห็นชอบตามคณะกรรมการพิจารณาการประเมินใหม่ให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ชำระค่าภาษีตามการประเมินแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้แก้ไขใบแจ้งคำชี้ขาดเฉพาะในส่วนของเครื่องชั่งน้ำหนักรถ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเฉพาะในส่วนหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนจำเลยอุทธรณ์คัดค้านเฉพาะในส่วนเครื่องชั่งน้ำหนัก การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยในส่วนของทรัพย์สินรายการอื่นจึงยุติแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของนายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคลในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้เสาไฟฟ้าคอนกรีตจะมีลักษณะติดตรึงถาวรกับที่ดิน แต่ก็มิใช่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ เพราะไม่มีลักษณะเป็นโรงเรือนหรือมีเจตนาใช้อย่างโรงเรือน จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อนำหม้อแปลงไฟฟ้ามาติดตั้งเข้ากับเสาไฟฟ้าก็ไม่ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในทรัพย์สินส่วนนี้นั้น เห็นว่า มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ…” ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัตินิยามของคำว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ” ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายหม้อแปลงไฟฟ้า ประกอบกับบันทึกข้อความแล้ว จะเห็นได้ว่า หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งยึดติดอยู่บนคานปูนที่วางพาดระหว่างเสาไฟฟ้าแรงสูงสองต้น สูงจากพื้นประมาณ 8 เมตร เสาไฟฟ้าทั้งสองต้นหล่อด้วยปูนมีฐานติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินซึ่งลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้หม้อแปลงไฟฟ้าจะติดตั้งอยู่บนคานปูนมิได้ยึดติดกับพื้นดิน และสามารถเคลื่อนย้ายออกไปจากเสาไฟฟ้าได้ แต่โดยสภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้เป็นประจำอยู่กับเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการแปลงค่ากระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่โรงงานของโจทก์ ซึ่งในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยประเมินภาษี ก็ประเมินค่ารายปีของหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งย่อมรวมถึงเสาไฟฟ้าที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันด้วย ทั้งโจทก์เองก็ได้ให้ผู้เช่าเช่าใช้ประโยชน์จากหม้อแปลงและอุปกรณ์ดังกล่าวในอุตสาหกรรมของผู้เช่าโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าจากทรัพย์สินส่วนนี้ด้วย หม้อแปลงไฟฟ้าจึงเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งและยึดติดอยู่กับเสาไฟฟ้าซึ่งติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หม้อแปลงไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยกำหนดค่ารายปีในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าโดยนำค่าเช่าที่โจทก์ได้รับมาเป็นเกณฑ์จึงเป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว การประเมินและคำชี้ขาดในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของนายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคลในส่วนของเครื่องชั่งน้ำหนักชอบหรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีของโจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า เครื่องชั่งน้ำหนักรถติดตรึงถาวรบนพื้นดินอยู่ภายนอกอาคาร อุปกรณ์ของเครื่องชั่งน้ำหนักอยู่ใต้พื้นดินและอยู่ภายนอกอาคาร อาคารชั่งน้ำหนักเป็นเพียงห้องควบคุมการชั่งน้ำหนักรถ ทั้งเครื่องชั่งน้ำหนักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตปูนขาวโดยตรง อาคารของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่โรงเรือนติดตั้งเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำ หรือเครื่องกำเนิดสินค้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เครื่องชั่งน้ำหนักเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ตามมาตรา 13 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น” เห็นว่า ตามภาพถ่ายอาคารชั่งน้ำหนัก ประกอบกับแปลนแสดงอาคารพร้อมเครื่องจักร แสดงให้เห็นสภาพโครงสร้างของเครื่องชั่งน้ำหนักว่า มีเครื่องชั่งน้ำหนักระบบคานชั่ง และระบบ LOAD CELL ติดตั้งลงไปใต้พื้นดินด้านข้างของห้องเครื่องชั่งทั้งสองด้าน และยังได้ความจากนางสาวจิระพร กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ว่า ใต้คานชั่งน้ำหนักจะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักซึ่งเป็นเครื่องจักรกลและต่อเนื่องไปยังห้องเครื่องชั่ง ส่วนเครื่องจักรกลนั้นอยู่ใต้ดินและอยู่นอกอาคารเครื่องชั่งน้ำหนัก เมื่อมีรถบรรทุกผ่านเครื่องชั่งคอมพิวเตอร์จะทำงานและส่งข้อมูลน้ำหนักรถและวัตถุที่บรรทุกไปยังห้องเครื่องชั่งที่มีระบบบันทึกน้ำหนัก เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์จึงเป็นเครื่องจักรกลไกที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่ภายในอาคารเครื่องชั่งน้ำหนัก แต่ถูกติดตั้งลงใต้พื้นดินด้านข้างห้องเครื่องชั่ง และมิได้ยึดติดอยู่กับตัวห้องเครื่องชั่ง เครื่องชั่งน้ำหนักจึงไม่ใช่ส่วนควบของโรงเรือนที่เป็นห้องเครื่องชั่ง แต่สภาพของเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีระบบคานชั่งและระบบ LOAD CELL ติดตั้งลงใต้พื้นดินและติดตรึงถาวรกับพื้นดินจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์จึงไม่เป็นส่วนควบที่สำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมที่ติดตั้งขึ้นในโรงเรือนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ไม่ลดค่ารายปีในทรัพย์สินรายการนี้ลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีจึงชอบแล้ว และจำเลยไม่ต้องคืนเงินภาษีแก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขใบแจ้งคำชี้ขาดในส่วนเครื่องชั่งน้ำหนักรถ และให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share