คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15036/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ลูกจ้างให้ชำระหนี้ที่เกิดจากการที่ลูกจ้างกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ เบิกสินค้าของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งเงินค่าสินค้าให้ครบถ้วนหรือนำสินค้ามาคืน จึงเป็นการฟ้องคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งจากมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 593,125 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในวงเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายโกมล นายสุพล และนายเล็ก บุตรของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน พิเคราะห์แล้ว ฟังได้ว่านายโกมล นายสุพล และนายเล็กเป็นทายาทของจำเลยที่ 2 ผู้มรณะ จึงมีคำสั่งให้นายโกมล นายสุพล และนายเล็กเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายสินค้าประจำสาขาหนองกี่ของโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2544 จนถึงปี 2546 จึงลาออกจากงาน ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 568,695 บาท โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังยักยอกสินค้าและเงินค่าสินค้าไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 แต่เพิ่งมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ลูกจ้างให้ชำระหนี้ที่เกิดจากการที่ลูกจ้างกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ เบิกสินค้าของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งเงินค่าสินค้าให้ครบถ้วนหรือนำสินค้ามาคืน จึงเป็นการฟ้องคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งจากมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แม้จะได้ความว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดต่อหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม 2544 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ดังที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและเมื่อศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 568,695 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ไม่เกิน 200,000 บาท
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 568,695 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มีนาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 200,000 บาท

Share