แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “รับเลี้ยง” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 นั้น หมายความถึงผู้ที่เป็นครูและมีหน้าที่เลี้ยงผู้ถูกทำร้ายด้วย
ในคดีข่มขืนชำเรา เมื่อได้ความว่าจำเลยเป็นครูสอนผู้เสียหายแต่ไม่ได้เป็นผู้รับเลี้ยงผู้เสียหายด้วย ดังนี้การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นผิดตามมาตรา 247 อีกบทหนึ่ง.
(ฎีกาที่ 260/2477)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นครูโรงเรียนประชาบาล คลองกลันตัน จังหวัดพระนคร ได้บังอาจใช้อำนาจด้วยกำลังกายกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา ด.ญ.อำนวยมีบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๔๔,๒๔๕,๒๔๗ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๔ ฯลฯ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๔๔ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๔ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๕ ปี และริบหินของกลาง ที่ไม่ลงโทษตาม ม.๒๔๗ ด้วย เพราะครูอาจารย์ต้องเป็นผู้รับเลี้ยงผู้ถูกกระทำร้ายนั้นด้วย คดีนี้ไม่ปรากฎว่าผู้ถูกกระทำร้ายต้องอยู่ในความเลี้ยงดูของจำเลย เวลากระทำผิดก็เป็นเวลาเลิกเรียนแล้ว จะอนุโลมให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๔๗ ไม่ได้
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ครูบาอาจารย์ที่รับเลี้ยงผู้ถูกทำร้ายตาม ม.๒๔๗ นั้น หมายถึงผู้ที่เป็นครูและมีหน้าที่เลี้ยงผู้ถูกทำร้ายด้วย คำว่ารับเลี้ยง หมายถึงการเลี้ยงดู พิพากษายืน
แต่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า แม้จำเลยกระทำผิดในเวลาเลิกเรียนก็ดี จำเลยมีหน้าที่ปกปักดูแลรักษา ด.ญ.อำนวยผู้เป็นศิษย์ในฐานะที่จำเลยเป็นครูบาอาจารย์ ม. ๒๔๗ ที่บัญญัติว่า “รับเลี้ยงไว้” นั้นมิได้หมายความถึงว่า “การเลี้ยงดู” หมายความเพียงว่า “อยู่ในปกปักรักษาดูแลปกครองเท่านั้น” ไม่จำเป็นต้องป้อนข้าวป้อนน้ำให้ด้วย จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา ๒๔๗
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๒๔๗ อีกบทหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า “ครูบาอาจารย์ที่รับเลี้ยงผู้ถูกกระทำร้ายไว้” ตามที่บัญญัติไว้ใน ม.๒๔๗ นั้นหมายถึงครูอาจารย์ที่รับเลี้ยงดูผู้ถูกกระทำร้ายดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จำเลยเป็นครูแต่ไม่ได้รับเลี้ยงผู้เสียหายความผิดของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๒๔๗ ดังตัวอย่างฎีกาที่ ๒๖๐/๒๔๗๗ พิพากษายืน.