คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านในกรณีขอเป็นผู้จัดการมรดก. ภายหลังจากศาลได้เริ่มสืบพยานผู้ร้องไปแล้วนั้น. ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะเห็นสมควรรับคำร้องคัดค้านหรือไม่.

ย่อยาว

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของคุณหญิงพริ้ง อักษรโกวิท ซึ่งอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ร้องคุณหญิงพริ้งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2508 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ศาลได้ประกาศนัดไต่สวนตามระเบียบ ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องได้ 1 ปากแล้วผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีบุตรผู้คัดค้านเป็นบุตรร้อยโทไล รมิตานนท์ ผู้เป็นพี่ร่วมบิดามารดาของเจ้ามรดก และได้ถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้ามรดก ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกมีคำสั่งตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ผู้ร้องอุทธรณ์ขอเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกามาด้วยในประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านยื่นคำร้องล่วงเลยเวลากำหนดแห่งการคัดค้าน โดยมิได้อ้างเหตุผลพิเศษหรืออ้างเหตุสุดวิสัย คำร้องคัดค้านเป็นการผิดระเบียบแบบแผน ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เกี่ยวกับประเด็นในข้อนี้ ข้อเท็จจริงในท้องสำนวนได้ความว่าศาลชั้นต้นได้ประกาศกำหนดนัดไต่สวนคำร้องเรื่องนี้ในวันที่ 31มีนาคม 2509 เวลา 9.30 นาฬิกา ผู้ใดจะคัดค้านก็ให้คัดค้านเสียก่อนกำหนดวันนัด ครั้นถึงวันนัด ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องไปเพียง1 ปากเท่านั้น ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2509 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านอ้างว่าตนมิได้ทราบประกาศทางหนังสือพิมพ์ และเพิ่งจะมารู้เรื่องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องคัดค้านโดยเห็นว่ามิใช่เป็นกรณีขาดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เพราะในกรณีเช่นนี้ศาลย่อมมีอำนาจทั่วไปที่จะใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะรับคำร้องคัดค้านหรือไม่ พิพากษายืน.

Share