แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิในการหักกลบลบหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 จะต้องอยู่ ในบังคับของมาตรา 344 ด้วย ดังนั้น หากสิทธิเรียกร้อง ใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ จะเอาสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมา หักกลบลบหนี้กันไม่ได้ เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยข้อเท็จจริงยังโต้แย้งกันอยู่ว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ปฏิบัติ ตามข้อตกลงจะซื้อขายสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ประมูลขาย ได้ครั้งแรก และจำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ วางเป็นหลักประกันซองการประกวดราคา และเรียกเงิน ค่าชดใช้ที่จำเลยต้องซื้อสินค้าดังกล่าวในราคาที่สูงขึ้น หรือไม่ และจำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลเรียกเงิน จำนวนที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ คดียังอยู่ ระหว่างพิจารณา สิทธิเรียกร้อง ของ จำเลยจึงเป็น สิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยไม่อาจนำสิทธิ เรียกร้องดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายสินค้า ครั้งหลังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาซื้อเครื่องอุปกรณ์รับส่งและแบ่งช่องสัญญาณเทเล็กซ์ หรือโทรพิมพ์โทรเลขหรือเครื่องอุปกรณ์ทีดีเอ็มยี่ห้อซีเอ็มซี รุ่น ทีดี – 6 ของบริษัทคานาเดียน มาร์โคนี จำกัดแห่งประเทศแคนาดา จำนวน 22 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรม และหนังสือคู่มือ รวมเป็นเงิน 11,822,243.93 บาทจากโจทก์ กำหนดส่งมอบสิ่งของพร้อมทำการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ของจำเลยในการใช้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 มกราคม 2536 โจทก์ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ววันที่ 21 เมษายน 2536 จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 9,300,000.20 บาทหักไว้ 2,522,243.73 บาท อ้างว่าโจทก์เคยเป็นคู่สัญญาซื้อขายสิ่งของดังกล่าวข้างต้นและถูกจำเลยบอกเลิกสัญญาซื้อขายทำให้จำเลยต้องจัดซื้อสิ่งของดังกล่าวใหม่จากโจทก์ในราคาสูงกว่าเดิมจึงหักเงินไว้ชดใช้ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินจำนวนข้างต้นเพราะเป็นข้อตกลงตามสัญญาคนละฉบับ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงิน 2,805,995.73 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,522,243.73 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2532 จำเลยเคยประกาศเรียกประกวดราคาซื้อเครื่องอุปกรณ์ตามฟ้องต่อผู้ขายทั่วไปโจทก์เสนอขายในราคา 9,795,000.20 บาท จำเลยตกลงซื้อโจทก์วางหลักประกันการประกวดราคาเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรวงศ์ จำนวนเงิน495,000 บาท และมีข้อตกลงว่า หากโจทก์ไม่ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่จำเลยแจ้ง โจทก์ยินยอมให้ริบเงินมัดจำทั้งหมด และถ้าจำเลยจัดซื้อสิ่งของพร้อมการติดตั้งจากบุคคลอื่นแทนในวงเงินสูงขึ้นเท่าใดโจทก์ยินยอมรับผิดชอบชดใช้ราคาดังกล่าว ในระหว่างรอการลงนามในสัญญาซื้อขายโจทก์และจำเลยตกลงร่วมกันชะลอการลงนามไปจนกว่าโจทก์จะแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องอุปกรณ์ ทีดีเอ็ม จำนวน 13 ชุด ที่จำเลยซื้อจากโจทก์อีกสัญญาหนึ่ง เมื่อโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้ว จำเลยมีหนังสือนัดโจทก์ให้ไปลงนามในสัญญาซื้อขาย แต่โจทก์บ่ายเบี่ยง จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกการตกลงซื้อขายและให้โจทก์ชำระเงินค่าประกันการประกวดราคา 495,000 บาท และสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายที่จำเลยต้องซื้อเครื่องอุปกรณ์จากผู้ขายรายใหม่ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ตกลงซื้อกับโจทก์ต่อมาจำเลยประกวดราคาจัดซื้อขึ้นใหม่ และได้ตกลงซื้อจากโจทก์ซึ่งเข้าประกวดราคาได้เป็นผู้ขายรายใหม่อีก แต่ราคาค่าสิ่งของที่ซื้อสูงกว่าเดิมจากที่เคยตกลงซื้อขายกันครั้งแรก2,027,243.73 บาท เมื่อรวมกับเงินมัดจำที่โจทก์ตกลงให้จำเลยริบตามสัญญาครั้งแรกจำนวน 495,000 บาท แล้ว โจทก์จะต้องชำระเงินให้จำเลยรวมเป็นเงิน 2,522,243.73 บาท จำเลยทวงถามแล้วโจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้จากเงินที่โจทก์จะได้รับตามสัญญาซื้อขายครั้งหลังลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 และจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2536 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,522,843.73 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่21 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 283,752 บาท ตามขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน2,522,243.73 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยรับกันว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2532 จำเลยเคยเรียกประกวดราคาซื้อเครื่องอุปกรณ์เช่นเดียวกับอุปกรณ์ตามฟ้องมาครั้งหนึ่งแล้ว โจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยตกลงขายในราคา 9,795,000.20 บาท และตกลงทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยยืนยันการตกลงซื้อ โจทก์วางหลักประกันซองประกวดราคาเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรวงศ์ เป็นเงิน 495,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า หากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบหลักประกัน และถ้าจำเลยต้องจัดซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ในราคาสูงขึ้นกว่าเดิมเท่าใด โจทก์ยินยอมชดใช้ราคาที่สูงขึ้น ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2533 จำเลยมีหนังสือยืนยันการตกลงซื้อแก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยตรวจพบว่าสินค้าที่โจทก์ทำสัญญาขายให้แก่กองสื่อสัญญาณภายในประเทศตามสัญญาอีกฉบับหนึ่งมีข้อบกพร่องใช้การไม่ได้ จำเลยจึงเรียกโจทก์มาทำความตกลงโจทก์รับจะแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวก่อนแล้วจึงจะทำสัญญาซื้อขายรายนี้ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 จำเลยมีหนังสือแจ้งการชะลอการทำสัญญาออกไปจนกว่าโจทก์จะแก้ไขข้อบกพร่องให้เรียบร้อยโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อยวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534ครั้นวันที่ 27 มิถุนายน 2534 จำเลยส่งร่างสัญญาซื้อขายมาให้โจทก์ตรวจสอบ และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 จำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์มาทำสัญญา ต่อมาวันที่ 31 เดือนเดียวกันโจทก์มีหนังสือขอความเป็นธรรมจากจำเลย เพราะไม่อาจยื่นราคาเดิมตามที่เสนอได้เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตไม่ยินยอม ในวันที่28 สิงหาคม 2534 จำเลยมีหนังสือเร่งรัดให้โจทก์มาทำสัญญาอีกครั้นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกการตกลงซื้อขายสินค้าตามที่ตกลงกัน และสงวนสิทธิในการริบหลักประกันโจทก์มีหนังสือโต้แย้ง และให้คืนหลักประกัน ต่อมาจำเลยเรียกประกวดราคาซื้อสินค้าอีกครั้ง โจทก์ชนะการประกวดราคาครั้งใหม่และเข้าทำสัญญาตามฟ้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยชำระราคาแก่โจทก์เพียง 9,300,000.20 บาท โดยหักไว้2,522,243.73 บาท อ้างว่าเพื่อชดใช้ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในการจัดซื้อครั้งใหม่และค่าหลักประกันซองประกวดราคาที่ถูกริบและจำเลยได้ยื่นฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากโจทก์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้วปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 2,522,243.73 บาทไว้หรือไม่ จำเลยนำสืบว่าจำเลยมีสิทธิหักกลบลบหนี้ราคาค่าสินค้าที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายที่จำเลยเรียกประกวดราคาสินค้าครั้งหลังและโจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคาและเข้าทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับจำเลย เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตกลงจะซื้อสินค้าซึ่งเป็นสินค้าอย่างเดียวกันที่โจทก์เป็นผู้ประมูลขายให้แก่จำเลยได้ในการประกวดราคาซื้อสินค้าดังกล่าวในครั้งแรก โจทก์จึงต้องรับผิดตามข้อตกลงจะซื้อสินค้าในการประกวดราคาครั้งแรกโดยจำเลยมีสิทธิริบหลักประกันซองประกวดราคาเป็นเงิน495,000 บาท และโจทก์ต้องรับผิดชดใช้ราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากการประกวดราคาครั้งแรกอีก จำนวน 2,027,243.73 บาท จำเลยจึงมีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ เงินจำนวนดังกล่าวจากเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างกันที่ทำครั้งหลังได้โจทก์นำสืบโต้แย้งว่า สัญญาตกลงจะซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยครั้งแรกโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามข้อตกลงแต่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากมิได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวกับโจทก์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยตกลงยืนยันการซื้อและตามข้อตกลง โจทก์ตกลงยื่นราคาสินค้าที่เสนอขายเพียง 120 วัน หลังจากนั้นจำเลยเป็นฝ่ายขอขยายระยะเวลาและขอชะลอการทำสัญญาซื้อขาย จำเลยส่งแต่สัญญาซื้อขายมาให้โจทก์ตรวจสอบหลังจากครบกำหนดแล้ว 1 ปีเศษ จึงเลยกำหนดเวลาที่โจทก์ตกลงยืนยันราคาสินค้าที่เสนอเพราะบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถยืนราคาที่เสนอครั้งแรกได้ โจทก์จึงเสนอราคาใหม่แต่จำเลยไม่ยินยอมและมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตกลงจะซื้อ ริบเงินโจทก์ที่วางเป็นหลักประกันซองประกวดราคาและสงวนสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ประมูลได้ในครั้งหลังเห็นว่า สิทธิในการหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 จะต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 344 ด้วย ดังนั้น หากสิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่จะเอาสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันไม่ได้ ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยข้อเท็จจริงยังโต้แย้งกันอยู่ว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจะซื้อขายสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ประมูลขายได้ครั้งแรก และจำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางเป็นหลักประกันซองการประกวดราคา และเรียกเงินค่าชดใช้ที่จำเลยต้องซื้อสินค้าดังกล่าวในราคาที่สูงขึ้นหรือไม่ และได้ความอีกต่อไปว่า จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลเรียกเงินจำนวนที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาสิทธิเรียกร้องของจำเลยจึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยไม่อาจนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายสินค้าครั้งหลังได้
พิพากษายืน