แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เป็นประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัท พ.จำกัดแม้บริษัทพ. จำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ที่จำเลยจำนองทรัพย์สินเป็นประกันถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายและโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทพ. จำกัด เป็นหนี้โจทก์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้นแล้ว แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากทรัพย์สินของบริษัท พ. จำกัด จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์ของตนเป็นประกันหนี้ของบริษัท พ. จำกัดก็ยังคงมีความผูกพันตามสัญญาจำนองที่ได้ทำไว้กับโจทก์ โจทก์จึงยังมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองยอมรับผิดใช้ต้นเงินของบริษัท พ.จำกัด ในการเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เพียงไม่เกินจำนวนเงินจำนอง3,670,000 บาท มิใช่รับผิดโดยไม่จำกัดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีความผูกพันตามสัญญาจำนองที่ทำไว้กับโจทก์ที่จะต้องชำระดอกเบี้ยและบริษัท พ. จำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองเป็นประกันก็ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 14,224,471.47 บาทให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีของต้นเงิน 11,333,621.67 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์จนครบ ถ้าไม่พอยังขาดอยู่เท่าใดให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีความรับผิดตามสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันรวมเป็นวงเงินจำนวนทั้งสิ้น3,670,000 บาทเท่านั้น มิใช่รับผิดชำระหนี้แทนบริษัทพาณิชยธนาสารจำกัด โดยไม่จำกัดจำนวน โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยเพราะบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,670,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี โดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2521 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2522ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 15มกราคม 2523 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม 2524 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีโดยไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2524ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 29มีนาคม 2526 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับต่อจากนั้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้เอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้ให้โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,670,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี โดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารนับตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2521 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2524 และให้คิดในอัตราเดียวกันนี้ต่อจากนั้นโดยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2521 บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 1,700,000 บาท และ 1,970,000 บาทโดยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หากค้างชำระดอกเบี้ยยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยมาทบเป็นต้นเงินได้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 18249ตำบลมีนบุรี (แสนแสบ) อำเภอมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519ในวงเงิน 1,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.5 และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมายจ.6 และนำที่ดินโฉนดเลขที่ 13715, 17237, 17238, 17957, 18241,18243และ 18534 ถึง 18538 ตำบลมีนบุรี(แสนแสบ) อำเภอมีนบุรี(แสนแสบ)กรุงเทพมหานคร รวม 11 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 ในวงเงิน 1,100,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2521 จำเลยตกลงขึ้นเงินจำนองตามสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นวงเงิน 1,700,000 บาท และ 1,970,000บาทตามลำดับ ตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจากจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 สัญญาจำนองมีข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาด บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ในวันที่ 22 กันยายน 2521 เป็นจำนวน4,599,640.30 บาท หลังจากนั้นบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ได้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์และค้างชำระดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์ได้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีเป็นต้นเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระโจทก์หักทอนบัญชีกับบริษัทพาณิชยธนาสารจำกัด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2524 ปรากฏว่าในวันนั้นบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์จำนวน5,297,500.49 บาท ต่อมาบริษัทพาณิชยธนสาร จำกัด ถูกผู้มีชื่อฟ้องเป็นคดีล้มละลายต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ล.295/2527 ของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2529 ต่อมาโจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.11 บอกกล่าวให้จำเลยนำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าวและไถ่ถอนจำนอง จำเลยได้รับหนังสือนั้นแล้วแต่เพิกเฉยโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้บริษัทพาณิชยธนาสารจำกัด ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายดังกล่าวแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ตกเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 109 และ 119 และก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ในคดีล้มละลายนั้นและมีสิทธิได้รับชำระหนี้แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เป็นประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ตามสัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ดังนั้นแม้บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ที่จำเลยจำนองทรัพย์สินเป็นประกันถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด เป็นหนี้โจทก์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้นแล้ว แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากทรัพย์สินของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันหนี้ของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัดก็ยังคงมีความผูกพันตามสัญญาจำนองที่ได้ทำไว้กับโจทก์ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ซึ่งเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.11บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้…
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองรวมทั้งสิ้นไม่เกินวงเงินจำนองจำนวน 3,670,000 บาท โดยไม่ต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวนั้น เห็นว่าจำเลยทำสัญญาตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันจำนวน 2 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7และต่อมาได้เพิ่มวงเงินจำนองตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 เพื่อเป็นประกันการกู้เงินเบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด กับโจทก์ และปรากฏว่าบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 และจ.4 กับโจทก์ โดยมีข้อความระบุในสัญญาดังกล่าว ข้อ 2 ว่า บริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไป และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.5และ จ.7 ข้อ 1 ก็มีข้อความระบุเช่นเดียวกันว่า จำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในการจำนองที่ดินเป็นประกันการกู้เงินเบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด กับโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยมีความผูกพันตามสัญญาจำนองที่ทำไว้กับโจทก์ที่จะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากนี้แล้วข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.5 และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.7 ก็มีข้อความระบุไว้ในข้อ 1 วรรคสองว่า “ถ้าผู้จำนองหรือลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสัญญาข้อหนึ่งข้อใดที่ทำไว้กับผู้รับจำนอง เป็นเหตุให้ผู้รับจำนองได้รับความเสียหาย ผู้จำนองยอมรับผิดชอบชดใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยรวมทั้งค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ และค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนองหรือในการไถ่ถอนจำนอง ซึ่งผู้รับจำนองต้องเสียไปทั้งสิ้น” ซึ่งเมื่อจำเลยตกลงเพิ่มวงเงินจำนองตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 จำเลยและโจทก์ก็ได้ตกลงกันตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวข้อ 1 ว่า ข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามสัญญาจำนองเดิมทุกประการด้วย ข้อสัญญาตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ข้อ 1 วรรคสองดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าแม้จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองยอมรับผิดใช้ต้นเงินของบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัดในการเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เพียงไม่เกินจำนวนเงินจำนอง3,670,000 บาท มิใช่รับผิดโดยไม่จำกัด ก็ตามแต่เมื่อบริษัทพาณิชยธนาสาร จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองเป็นประกันก็จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย…”
พิพากษายืน.