คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16263/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2539 มาตรา 42 กำหนดผู้รับผิดไว้คือ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในกิจการงานที่ตนต้องรับผิดชอบ มิได้หมายถึงเฉพาะเพียงแต่ผู้แทนของนิติบุคคล ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์ จัดเตรียมสัญญาซื้อขาย จัดทำสัญญาเช่าพร้อมเอกสารประกอบ รวมทั้งทำหลักฐานการตรวจสภาพและการรับมอบรถ งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงเป็นงานส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้เสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าว
การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันอาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ หากลักษณะของความผิดเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การที่จำเลยที่ 2 ลงแบบฟอร์มกับบันทึกข้อมูลรถยนต์ใหม่ลงในแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์และการทำสัญญาเช่า เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 10 กระทง จำคุกคนละ 10 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 กำหนดผู้รับผิดไว้คือ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในกิจการงานที่ตนต้องรับผิดชอบ มิได้หมายถึงเฉพาะเพียงแต่ผู้แทนของนิติบุคคล ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคลเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์ จัดเตรียมสัญญาซื้อขาย จัดทำสัญญาเช่าพร้อมเอกสารประกอบ รวมทั้งทำหลักฐานการตรวจสภาพและการรับมอบรถ งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงเป็นงานส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้เสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อต่อไปว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาเป็นกรณีที่นายฮันส์ ปีเตอร์ เนล และนางสาวปวีณ์สุดา ฉ้อโกงผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างกับฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดรวมถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด โดยขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะรับฟังได้ว่า นายฮันส์ ปีเตอร์ เนล และนางสาวปวีณ์สุดา ฉ้อโกงผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วย ก็เป็นกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของบุคคลภายนอกคดี ทั้งเป็นความผิดที่มิได้กล่าวในฟ้องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จึงมิใช่กรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อต่อไปอีกว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงแบบฟอร์มรับรถยนต์ใหม่กับบันทึกข้อมูลรถยนต์ใหม่ลงในแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ และทำสัญญาเช่าในวันเดียวกัน เป็นการกระทำติดต่อกันไปด้วยเจตนาเดียวกัน ดังนั้น การกระทำในแต่ละวันจึงเป็นกรรมเดียว เห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ หากลักษณะของความผิดเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน เมื่อการลงแบบฟอร์มรับกับบันทึกข้อมูลรถยนต์ใหม่ลงในแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์และการทำสัญญาเช่า เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 10 กระทง จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share