คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1358/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมศุลกากรโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาเนื่องจากจำเลยเป็นผู้จำหน่ายด้วยการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยาน การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งแก่อากาศยานซึ่งผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยานหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่ ที่รับผิดชอบในเรื่องค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 110 จำเลยเป็นเพียงบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันให้แก่บริษัทสายการบินมีหน้าที่บริการเติมน้ำมันให้แก่อากาศยานซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเท่านั้น มิใช่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยานจึงมิใช่นายเรือและไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนนายเรือตามบทบัญญัติมาตรา 110 ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาในการเติมน้ำมันแก่อากาศยานให้แก่โจทก์ เมื่อตามบทบัญญัติของ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 110ซึ่งเป็นที่มาของกฎกระทรวง ฉบับที่ 73(พ.ศ.2521) อันเป็นกฎกระทรวงที่ให้ใช้ใบแบบ ศ.3 ซึ่งเป็นบัญชีเดียวกับอัตราค่าธรรมเนียมล่วงเวลา บัญญัติให้เฉพาะนายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเท่านั้นที่มีหน้าที่รับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าวการที่หัวเรื่องของใบแนบ ศ.3 ใช้คำว่า “ผู้ค้า”จึงไม่เป็นเหตุทำให้บุคคลอื่นนอกเหนือจากนายเรือหรือตัวแทนมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาไปด้วย ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจนำคำว่า “ผู้ค้า” ดังกล่าวมาใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าวจากจำเลย ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีของศาลนั้น เมื่อศาลเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดข้อหนึ่งขึ้นวินิจฉัยได้ และเมื่อได้วินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วทำให้ คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 3,344,638.25 บาท ให้แก่โจทก์ และให้ชำระดอกเบี้ยของจำนวนเงินต้น 1,923,400 บาท ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ค่าธรรมเนียมล่วงเวลาซึ่งโจทก์เรียกเก็บในการที่เจ้าพนักงานของโจทก์ทำงานก่อนหรือหลังเวลาราชการหรือทำงานในวันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการ โดยเรียกเก็บตามช่วงระยะเวลาตามใบแนบ ศ.3 ท้ายกฎกระทรวงการคลัง ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น ไม่เป็นเงินภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรค 9 และ วรรค 13 ฟ้องโจทก์ข้อ 3 เป็นฟ้องเคลือบคลุม กล่าวคือ โจทก์มิได้แสดงหลักฐานหรือรายละเอียดว่า จำเลยได้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยาน ณ ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2521 ถึงเดือนสิงหาคม 2531 เป็นจำนวนกี่ลำโจทก์เพียงแต่ใช้วิธีคำนวณเครื่องอากาศยานที่แวะลง ณท่าอากาศยานกรุงเทพ ในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2521 ถึงเดือนสิงหาคม 2531 โดยประมาณการเท่านั้น แต่หลักฐานที่จำเลยได้ทำการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยานชาติใด ๆ เป็นจำนวนเท่าใด ในแต่ละวันแต่ละเดือนเป็นจำนวนกี่ลำ โจทก์ก็มิได้แสดงรายละเอียดและหลักฐานมาสนับสนุนแต่อย่างใดทั้งสิ้นจึงทำให้จำเลยไม่เข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำฟ้องของโจทก์ เพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าวตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา110 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบด้วยกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้ไว้ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 กฎกระทรวง ฉบับที่ 73(พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469ให้ไว้ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 และประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2521 เรื่อง ลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ โจทก์มิได้อ้างบทกฎหมายอื่นปัญหาจึงมีเพียงว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างหรือไม่มาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469บัญญัติว่า “ถ้าเรือลำใดบรรทุกลงหรือถ่ายออกซึ่งของหรือสินค้าอย่างใด ๆ ก็ดี หรือกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีในวันอาทิตย์ หรือวันหยุด หรือก่อนหรือภายหลังเวลาราชการดังกล่าวไว้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง นอกจากจะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนและได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงท่านว่านายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่การที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ไม่กระทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากโทษที่จะพึงต้องรับตามมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้” และมาตรา 122 บัญญัติว่า”ให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดวันหยุดและเวลาราชการศุลกากร กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม”ส่วนคำว่า “นายเรือ” หมายความว่าบุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือควบคุมเรือ และคำว่า “เรือ” มีความหมายรวมถึงอากาศยานดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2480 มาตรา 3(1) ตามลำดับ ดังนั้น คำว่า “นายเรือ” จึงมีความหมายถึงผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานด้วย ในกรณีนี้โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับอากาศยานซึ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเสียค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469คือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยานหรือตัวแทน แม้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะมีบัญญัติโทษในทางอาญาไว้ด้วยแต่ก็สืบเนื่องมาจากการฝ่าฝืนหน้าที่ในทางแพ่งเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมมาตรา 110 นี้ จึงเป็นบทบัญญัติแสดงให้เห็นถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชำระค่าธรรมเนียมอยู่ในตัว โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาเนื่องจากจำเลยเป็นผู้จำหน่ายด้วยการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยาน ซึ่งการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งแก่อากาศยานซึ่งผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยานหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องค่าธรรมเนียมตามมาตรา 110 ดังกล่าว จำเลยเป็นเพียงบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันให้แก่บริษัทสายการบินมีหน้าที่บริการเติมน้ำมันให้แก่อากาศยานซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเท่านั้นมิใช่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยาน จึงมิใช่นายเรือและไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนนายเรือตามบทบัญญัติมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาในการเติมน้ำมันแก่อากาศยานตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องให้แก่โจทก์ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า มาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นนายเรือหรือตัวแทนเท่านั้น ที่เป็นผู้กระทำผิดและต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลา เห็นว่าหากเป็นดังที่โจทก์อ้างกฎหมายก็ควรใช้คำว่า”เช่น” แต่กฎหมายใช้คำว่า “ท่านว่า” ซึ่งแสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่าผู้ที่จะกระทำความผิดและต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาตามมาตรานี้ได้มีนายเรือหรือตัวแทนเพียง 2 คน เท่านั้นและที่โจทก์อ้างว่าหัวเรื่องของใบแนบ ศ.3 ได้ใช้ข้อความว่า “อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการก่อนหรือหลังเวลาราชการในวันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันหยุดเพื่อสะดวกแก่ผู้ค้า”แสดงว่าผู้มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมล่วงเวลามิใช่นายเรือหรือตัวแทน จำเลยเป็นผู้ค้าจึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมล่วงเวลานั้นเห็นว่า ใบแนบ ศ.3 เป็นบัญชีเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมล่วงเวลาที่ออกโดยอาศัยกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้ไว้ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2473 ข้อ 3 ที่บัญญัติว่า “การที่พนักงานไปประจำการก่อนหรือหลังเวลาราชการหรือในวันอาทิตย์ วันหยุดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 110ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 10)พ.ศ.2483 นั้น ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามใบแนบ ศ.3 ท้ายกฎนี้” และกฎกระทรวง ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ให้ไว้ ณ วันที่10 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 ข้อ 2 ที่บัญญัติว่า “ให้ยกเลิกใบแนบศ.3 ท้ายกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และให้ใช้ใบแนบ ศ.3 ท้ายกฎกระทรวงนี้แทน” เมื่อตามบทบัญญัติมาตรา 110 ซึ่งเป็นที่มาของกฎกระทรวงดังกล่าวเฉพาะนายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเท่านั้นที่มีหน้าที่รับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าว การที่หัวเรื่องของใบแนบ ศ.3 ใช้คำว่า”ผู้ค้า” จึงไม่เป็นเหตุทำให้บุคคลอื่นนอกเหนือจากนายเรือหรือตัวแทนมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาไปด้วยฉะนั้นโจทก์จึงไม่อาจนำคำว่า “ผู้ค้า” ดังกล่าวมาใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าวจากจำเลย สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้4 ประเด็น สมควรที่ศาลจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาททั้งสี่จากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่คู่ความนำสืบให้ครบทุกประเด็นไม่ควรที่จะวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีของศาลนั้นเมื่อศาลเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดข้อหนึ่งขึ้นวินิจฉัยได้และเมื่อได้วินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วทำให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน

Share