คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16255/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยชก ต่อย และเตะ โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยขับรถยนต์พุ่งชนท้ายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมจนรถล้มทำให้ศีรษะของโจทก์ร่วมกระแทกกำแพงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเสถียร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 2 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โจทก์ร่วมมีส่วนผิดอยู่ด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ประกอบกับจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีหน้าที่การงานที่มั่นคงแน่นอน มีครอบครัวคือภริยาและบุตร 2 คน ที่ยังต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน การลงโทษจำคุกระยะสั้นนอกจากไม่ก่อให้เกิดผลในการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของจำเลยแล้ว ยังทำให้มีประวัติเสื่อมเสีย เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่า โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน รวม 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี รายงานตัวครั้งแรกในวันที่มีคำพิพากษา ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องขณะที่โจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์อยู่ในซอยสุทธิพร 1 จำเลยขับรถยนต์ตามหลังแล้วบีบแตรขอทาง โจทก์ร่วมหลบไปทางด้านซ้าย จำเลยขับรถยนต์แซงไปจนถึงปากซอยสุทธิพร 2 โจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์ตามไปทันและได้ใช้มือตบที่กระโปรงท้ายรถยนต์ของจำเลยแล้วโจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวเข้าซอยสุทธิพร 2 จำเลยได้เลี้ยวรถยนต์ตามไปทัน แล้วชนท้ายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมจนล้มลง โจทก์ร่วมลุกขึ้นแล้วเดินเข้าไปหาจำเลย จำเลยลงจากรถยนต์และเดินเข้าหาโจทก์ร่วม แล้วจำเลยชกต่อยโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลจะนำข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยขับรถยนต์พุ่งชนท้ายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมจนรถล้มทำให้ศีรษะของโจทก์ร่วมกระแทกกำแพงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ สมองบวมต้องผ่าตัดสมองมาวินิจฉัยได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยชก ต่อย และเตะ โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยขับรถยนต์พุ่งชนท้ายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมจนรถล้มทำให้ศีรษะของโจทก์ร่วมกระแทกกำแพงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share